ริงโก บูโนอาน ภัณฑารักษ์ชาวฟิลิปปินส์ เขียนเอาไว้ในสูจิบัตรนิทรรศการแบรนด์นิวเมื่อปี 2012 ว่า “คนรุ่นปัจจุบันมักได้รับคำบรรยายว่า ‘หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง’ ‘หลงตัวเอง’ และโตมากับอินเตอร์เน็ต ต่างจากคนรุ่นก่อนที่ต่อสู้เพื่ออุดมคติร่วมกันและมีมุมมองในทิศทางเดียวกัน คำกล่าวนี้อาจเป็นจริงอยู่ส่วนหนึ่ง ...”
ในฐานะที่เป็นคนรุ่น ‘หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง’ และแน่นอน ‘หลงตัวเอง’ ด้วย ผมเห็นว่าจำเป็นและเป็นจริงอยู่ส่วนมากหรือเกือบทั้งหมด ถ้าขุดลงไปในงานศิลปะของศิลปินรุ่นใหม่ที่ยังทำงานร่วมยุคกันอยู่นี้ ถึงที่มาของความคิดและวิธีการสร้างสรรค์ล้วนวนเวียนอยู่กับเรื่อง “ตัวกูของกู” หรือเรียกว่าลัทธิ “me myself and I” แทบทั้งสิ้น จนอดสงสัยไม่ได้ว่า คำอธิบายที่มักจะขึ้นต้นว่า “มันเริ่มมาจากเรื่องส่วนตัว” นี้มีที่มาจากไหนกันแน่ ?
ผมเริ่มต้นทำงานด้วยการไปชมนิทรรศการศิลปนิพนธ์ของหลายมหาวิทยาลัย พบกับนักศึกษาและศิลปินรุ่นใหม่ รวมถึงได้พูดคุยและปรึกษากับอาจารย์ที่สอนอยู่ในสถาบันศิลปะ ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้ติดตามผลงานของศิลปินรุ่นใหม่และการประกวดงานศิลปกรรมใดๆในประเทศไทยมานานกว่าสิบปีแล้ว ไม่เคยทราบว่าศิลปินคนไหนได้รางวัลอะไรแล้วยังไม่คิดว่ามันเป็นหนทาง(เดียว)ที่จะนำพาศิลปินรุ่นใหม่ก้าวเดินไปบนเส้นทางสายศิลปะ แต่ดูเหมือนว่าสิบปีที่ผ่านมาไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปมากนัก งานนิทรรศการศิลปนิพนธ์และงานประกวดยังมีลักษณะร่วมกันมากจนเกินไปและมีความหลากหลายของความคิดและวิธีการแสดงออกน้อยจนเกินไป จนทำให้การพูดถึงความหลากหลายและการยอมรับความหลากหลายผ่านวิธีการประเมินคุณค่าแบบเดิมๆ เป็นสิ่งที่มองเห็นอย่างพร่าเลือนกลายเป็นเสียงที่แผ่วเบา สิ่งที่ผมมองหาคือความเป็นไปได้ใหม่ๆและอะไรก็ตามที่ต่างออกไปจากวิธีการและการประเมินคุณค่าที่คุ้นเคยอะไรก็ตามที่ต่างออกไปจากระบบคุณค่าที่เรียกรวมๆว่า ‘ความเป็นไทย’
‘My Hands Remember How Your Body Felt’
Mary Marion คือตัวตนสมมติที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบผลงานชื่อ ‘Alter Ego’ ในปี 2014 ขณะที่ ภาคินี ศรีเจริญสุข เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ความลุ่มหลงในการทำงานฝีมือปรากฎขึ้นอีกครั้งในงานชุด ‘Wedding Dress’ ในปี 2015 เมื่อภาคินีเลือกใช้เทคนิคการถักโครเชต์แบบไอริช (Irish Crochet) ถักกาวซิลิโคนให้เป็นชุดแต่งงานสีดำ ประสบการณ์และความสนใจเรื่องความรักความสัมพันธ์ และเงื่อนไขของการครอบครองความรักที่เกี่ยวข้องกับประเพณี ถูกถ่ายทอดผ่านทักษะการวาดภาพด้วยสีน้ำมันในผลงานศิลปนิพนธ์ชุด ‘I Give To Thee The More I Have’ ในปี 2016 ภาพก้อนลำไส้ หัวใจแหวะผ่า ชิ้นเนื้อและชั้นไขมัน ซากส่วนของชีวิตที่ต้องแลกเพื่อรักและความเป็นเจ้าของ ในโครงการแบรนด์นิว ภาคินีตั้งชื่อนิทรรศการว่า ‘My Hands Remember How Your Body Felt’ ภาคินี ใช้การทำงานจิตรกรรมด้วยสีไม้ สีฝุ่น และเครื่องสำอางค์วาดระบายภาพเหมือนจริงของผิวหนังและร่องรอยบนลำตัวของมนุษย์(ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่เป็นอิสระ) ลงบนกระดาษที่บอบบางน่าทะนุถนอม ภาพถูกวาดระบายสีด้วยทักษะที่ชำนาญรวมถึงฝีมือที่ละเอียดอ่อน ช่วยตอกย้ำความลุ่มหลงและแรงปรารถนาที่มีต่อความสัมพันธ์อันเปราะบางและคลุมเครือ ความไม่มั่นคงภายในถูกแสดงออกมาด้วยการสร้างวัตถุสำหรับการครอบครองเพื่อรักษาความสัมพันธ์ไว้ให้เป็นนิรันดร์ ภาพถูกจัดองค์ประกอบให้เรียบง่ายและแบนราบเพื่อเน้นแสดงเพียงสีและรายละเอียดของพื้นผิวปรากฎเพียงร่องรอยบางอย่างบนพื้นผิว ไฝ รอยแตกของผิวหนัง แผลเป็นและรอยนูนของกระดูก การลดทอนองค์ประกอบของภาพวาดที่เหมือนจริงมากจนภาพเหล่านั้นล่องลอยอยู่ตรงขอบพรมแดนของความจริงและความเป็นนามธรรม
‘Dirty Snow Poesy’
การจัดเรียงตัวกันของพยัญชนะและวรรณยุกต์ในงานวรรณกรรมได้ถักทอประสบการณ์และความทรงจำของผู้อ่าน ก่อให้เกิดเป็นจินตภาพภายในภวังค์ พลังของวรรณกรรมในฐานะเรื่องสมมติที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อพูดถึงเรื่องจริงหรือปรุงแต่งเรื่องลวงนำพาผู้อ่านไปสู่โลกคู่ขนานระหว่างความฝันและความเป็นจริง พลังทางวรรณกรรมเป็นเป็นหลักฐานที่แสดงความเจริญทางสติปัญญาและอารยธรรมของมนุษย์ บทบรรยายในงานวรรณกรรมสร้างจินตภาพที่แปลกประหลาดที่เหนือจริงและบางครั้งเหมือนจริงที่สุด แพร พู่พิทยาสถาพร จิตรกรที่ได้รับแรงบันดาลใจมากจากบทบรรยายในงานวรรณกรรม แพรเพิ่งจบปริญญาระดับมหาบัณฑิต จาก The Kunstakademie Düsseldorf ประเทศเยอรมนี แพรใช้เทคนิคการวาดภาพด้วยสีอะครีลิกบนผ้าใบขนาดใหญ่ที่เรียบง่าย บรรยากาศในงานจิตรกรรมของแพร เป็นบรรยากาศของความสงบแต่ดูเหมือนว่ากำลังจะมีอะไรเกิดขึ้น และมีอะไรบางอย่างที่กำลังหายไปเช่นเดียวกัน ภาพทิวทัศน์ในธรรมชาติที่ไม่สามารถระบุเวลาและสถานที่ สถาปัตยกรรมแบบทันสมัยที่ร้างชีวิตในบรรยากาศแวดล้อมของธรรมชาติอันพิกล ภาพของระนาบสีที่เรียบง่ายและเบาบางสร้างเสน่ห์และมิติอย่างแปลกประหลาด จนดูเหมือนว่าภาพที่เห็นจะเกิดขึ้นได้ในรูปแบบของงานจิตรกรรมเท่านั้น ความจริงในงานของแพรเป็นความจริงที่ล้อเล่นกับความเหนือจริง สีอะครีลิกบนผ้าใบคือความจริงเชิงประจักษ์ที่ซ้อนทับกับทัศนียวิทยาแบบจิตรกรรม องค์ประกอบในภาพกระตุ้นให้เราเคลิ้มฝันพลันกระตุกให้เราหยุด และพิจารณาความจริงที่อยู่ตรงหน้าอย่างตรงไปตรงมา แม้ในขณะที่เรายังอยู่ในภวังค์
‘Intro Essence’
ปี 1997 ที่ Mexico City ศิลปินชาวเบลเยี่ยม Francis Alÿs ใช้เวลา 9 ชั่วโมงเข็นก้อนน้ำแข็งไปทั่วเมือง เขาตั้งชื่อกิจกรรมทางศิลปะครั้งนี้ว่า “Sometimes Making Something Leads to Nothing” สำหรับศิลปินการ making something อาจจะ leads to nothing แต่สำหรับ วันสว่าง เย็นสบายดี ในวัย 27 ปี งานชิ้นนี้สร้างแรงบันดาลใจให้กับสถาปนิกหนุ่มอย่างเขา ให้ไปสมัครเข้าเรียนต่อปริญญาโท สาขาวิชาทัศนศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาอยากจะรู้จักศิลปะให้มากขึ้น อยากจะรู้ให้กว้างขึ้น วันสว่าง จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เขาต้องการเป็นสถาปนิก เขามีความคิดว่า “ถ้าบ้านดีกว่านี้ อะไรๆก็คงจะดีขึ้น” เขาหมายถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว วันสว่างเติบโตในครอบครัวคนชั้นกลางที่เขาบอกว่า “เป็นชนชั้นที่ลำบากที่สุด เพราะถูกดันให้ขึ้นมา ต้องหนีความเป็นชนชั้นล่างแล้วยังต้องปีนป่ายไปเป็นชนชั้นสูง” สิ่งที่เขาสนใจไม่ใช่แค่เรื่องการจัดการพื้นที่ว่างในฐานะสถาปนิก แต่คือการจัดการกับความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้คนที่อยู่โดยรอบ เขามองหาอะไรก็ตามที่มันเป็นเนื้อแท้ (Essential) สี รูปทรง เส้น และวีธีการทำงานในพื้นที่ระนาบแบบธรรมเนียมของจิตรกรรม วันสว่างออกแบบวิธีการทำงานที่เป็นระบบระเบียบและเรียบง่าย เขาทำการทดลองเล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับการจัดวางระนาบของสี และเส้นต่างๆให้สัมพันธ์กับกิจวัตรประจำวันของเขา ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ไม่ได้ต้องการสร้างงานที่อ้างอิงถึงสัญญะทางสังคมการเมือง เขาทำให้จิตรกรรมกลับไปเป็นวัตถุที่ถูกจ้องมองแต่เพียงอย่างเดียว และตัวมันเองไม่ได้ไม่ได้เป็นตัวแทนของสิ่งใด บางครั้งการทำอะไรบางอย่าง ก็นำเราไปสู่ความไม่ต้องเป็นอะไรเลย
‘Mind the Monsoon’
‘Vision is an intelligent form of thought’ -Andreas Gursky หากการถ่ายภาพคือการบันทึกความจริงชั่วขณะภายใต้กรอบการมองและการเลือกของช่างภาพ อธิษว์ ศรสงคราม ตั้งคำถามย้อนกลับไปที่ความจริง และหน้าที่ของการถ่ายภาพ อธิษว์ เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทจาก The Kunstakademie Düsseldorf ประเทศเยอรมนี เขาสนใจงานของศิลปินช่างภาพแนวคอนเซปช่วลชาวเยอรมันอย่าง Thomas Ruff และแน่นอนงานศิลปะภาพถ่ายอันวิจิตรโดย อาจารย์ของเขา Professor. Andreas Gursky อธิษว์สร้างภาพลวงตาด้วยเทคนิคการถ่ายภาพ เพื่อตั้งคำถามกับความจริงของภาพถ่าย ภาพทั้งหมดที่เรามองเห็นได้ถูกสร้างขึ้นด้วยขั้นตอนที่ซับซ้อนและหลากหลาย เพียงแต่ผลทางสายตาทั้งหมดถูกจัดวางอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการถ่ายภาพ เขาให้ความสำคัญกับการลำดับขั้นตอนของการสร้างภาพ ไม่ต่างจากจิตรกรวาดภาพบนผืนผ้าใบ แต่งานของ อธิษว์ ให้ผลทางสายตาที่ต่างออกไป งานของเขารบกวนการรับรู้ของเรา มันไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นเหมือนที่เราคาดหวัง การจ้องมองภาพถ่ายของเขาทำให้เราเกิดคำถามที่ย้อยแย้งถึงความจริงที่อยู่ในภาพภายใต้ความงามที่ถูกจัดวางอย่างปราณีต เราอยากจะเชื่อสิ่งที่เราเห็นในครั้งแรกแต่ก็ดูเหมือนว่ามีอะไรบางอย่างที่มันผิดไปจากที่เราคาดว่ามันควรจะเป็น พื้นที่ว่าง หุ่นนิ่ง ทิวทัศน์ เส้นสายกราฟฟิค และรูปทรงนามธรรมดูเหมือนเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่ถูกบิดเบือน ความคมชัดและโฟกัสที่พล่าเลือนของเลนส์ ถูกนำมาใช้หลอมรวมกับทักษะการสร้างภาพอย่างพิถีพิถันทำให้งานของเขาสวยงามและน่าพิศวงในเวลาเดียวกัน
‘The Blue Cinema’
บรรยากาศของสีที่ให้ความรู้สึกแปลกประหลาด ภาพความสัมพันธ์ของผู้คนในร้านกาแฟยามค่ำคืนใต้แสงไฟในห้องสีเหลือง หญิงสาวสวมชุดสีแดงที่ไม่ได้แสดงสีหน้า ผู้ชายลึกลับที่นั่งหันหลัง ท้องถนนที่เต็มไปด้วยความมืดและว่างเปล่า ภาพเหล่านี้ล้วนปรากฎอยู่ในงานจิตรกรรม ‘Nighthawks’ ของศิลปินชาวอเมริกัน Edward Hopper ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้กำกับภาพยนตร์ หลายยุคหลายสมัย นำมาเป็นส่วนประกอบเพื่อการเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยสุนทรียศาสตร์ของความโดดเดี่ยวท่ามกลางความอลม่านของเมืองไร้ชีวิต ย้อนกลับกัน ภาพยนตร์หลายเรื่องที่เต็มไปด้วยบรรยากาศที่ว่างเปล่าแปลกประหลาด ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่ศิลปินรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษาจากสาขาจิตรกรรม หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง การทำงานจิตรกรรมสีน้ำมันของนิจสุภา นาคอุไร เริ่มต้นจากความประทับใจในฉากและบรรยากาศของภาพยนตร์หลายเรื่อง นิจสุภาเลือกฉากที่อ้างว้าง แปลกประหลาด หรือแม้กระทั่งน่าหวาดระแวงจากภาพยนตร์มาเป็นต้นแบบของการสร้างสรรค์ ภาพยนตร์คือศิลปะการสร้างภาพมายาที่นำพาผู้ชมเข้าไปสู่เรื่องราวต่างๆ นิจสุภาสร้างภาพลวงตาที่งดงามบนระนาบของงานจิตรกรรมขึ้นจากฉากในงานภาพยนตร์ นิจสุภาใช้การทำงานจิตรกรรมเป็นการเข้าไปสำรวจความแปลกแยกของสภาวะความเป็นอยู่ในสังคม ความอึดอัด ความโดดเดี่ยวที่เราทั้งหลายต่างเผชิญอยู่ร่วมกัน ภาพสะท้อนยุคสมัยของความสัมพันธ์ทางกายภาพที่ไม่ได้เติมให้การอยู่ร่วมกันนั้นเป็นความรู้สึกที่อบอุ่นปลอดภัย นิจสุภาดัดแปลงฉากจากภาพยนตร์ ขยายพื้นที่ว่างให้เพิ่มมากขึ้น สร้างบรรยากาศของความลึกลับแม้กระทั่งความว่างเปล่า ด้วยเทคนิคการระบายสีน้ำมันแบบงานในแนวทางสัจนิยม พื้นที่จำลองในงานจิตรกรรม ได้ขยายขอบเขตของความเป็นอยู่และสร้างโลกจำลองของตัวศิลปินเองขึ้นมา
‘Touching at a Distance’
Walter Whitman เริ่มต้นบทที่ 26 ในหนังสือรวมบทกวีที่ชื่อว่า ‘Song of Myself’ ด้วยประโยคที่ว่า “Now I will do nothing but listen…” การได้ยินเป็นประสาทสัมผัสที่เราไม่สามารถเปิดปิดได้โดยธรรมชาติ หูของเราเปิดการรับรู้อยู่ตลอดเวลา เสียงเป็นสัมผัสสุดท้ายที่จะดับลงเมื่อเราตาย เหมือนกับตอนที่เรานอนหลับ หูยังคงทำงานตลอดเวลาและเสียงคือสัมผัสแรกที่ปลุกเราให้ตื่นขึ้นในทุกวัน ธัชธรรม ศิลป์สุพรรณ อาจารย์รุ่นใหม่จากสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จบการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตทางด้านดนตรีจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย(University of California, Berkeley, USA) ธัชธรรมสนใจเสียง เขาเป็นนักประพันธ์ดนตรี และสนใจสิ่งที่เรียกว่า ‘นอยซ์’ (noise) เป็นพิเศษ สิ่งใดก็ตามที่ไม่สามารถหาคำจำกัดความได้ นั่นหมายถึงเราไม่สามารถควบคุมได้ วิธีการที่จะจัดการให้ง่ายที่สุดคือกำจัดมันออกไปจากระบบ นอยซ์ ก็เช่นกัน บางครั้งถูกเรียกว่า ‘เสียงที่ไม่ใช่เสียงดนตรี’ (nonmusical sound) หรือ เสียงรบกวน ซึ่งมีความหมายในแง่ลบ งานของธัชธรรม คือการเปิดพื้นที่ใหม่ให้กับเสียงที่ถูกกำจัดออก ธัชธรรมเลือกบันทึกเสียงจากสิ่งแวดล้อม ที่โดยปกติแล้วเราได้ยินแต่เราไม่ได้ฟัง เขาประพันธ์ช่วงเสียงต่างๆ ผ่านกระบวนการจัดการทางสุนทรียศาสตร์ของเสียง ให้เสียงที่เราไม่เคยได้ฟังกลับเข้ามาสู่ระบบซึ่งจะสร้างสุนทรียภาพใหม่ ด้วยการรับรู้ที่เกี่ยวข้องกับสัมผัสทางกาย ธัชธรรมประดิษฐ์ลำโพงด้วยกระดาษขนาดเล็กจำนวนมาก เพื่อขยายเสียงที่ถูกกำจัดออก สร้างให้เกิดสนามสั่นสะเทือนในพื้นที่เฉพาะ เพื่อการรับรู้ถึงสิ่งที่มีอยู่แต่ไม่เคยถูกยอมรับให้มีอยู่
โครงการแบรนด์นิวมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างโอกาสสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ ที่มีศักยภาพได้สั่งสมประสบการณ์และพัฒนาผลงานของตนเองโดยไม่จำกัดวุฒิ อายุ หรือสถาบันการศึกษา โครงการแบรนด์นิวผ่าน 10 ปีแรกมาด้วยชื่อเสียงในการทำงานอย่างหนักของทีมงานจากหอศิลป์มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ การสร้างเครือข่ายกับสถาบันการศึกษาและแกลลอรี่เอกชนหลายแห่ง คณะภัณฑารักษ์รับเชิญ และกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ ที่ปัจจุบันได้เติบโตและสร้างผลงานที่มีคุณภาพในระดับนานาชาติ ในปีนี้โครงการแบรนด์นิวเป็นครั้งที่ 11 มีการปรับเปลี่ยนวิธีการคัดเลือกศิลปินโดยให้สิทธิ์และอิสระภาพอย่างเต็มที่กับภัณฑารักษ์รับเชิญในการคัดเลือกผลงาน โดยไม่ผ่านการเปิดรับสมัคร ที่ทางของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยยังเปิดกว้างและเต็มไปด้วยโอกาส ผมคัดเลือกศิลปินรุ่นใหม่ 6 คนที่รูปแบบของงานไม่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างตั้งใจ ทุกคนจัดนิทรรศการเดี่ยวของตัวเอง ‘มันเริ่มมาจากเรื่องส่วนตัว’ ที่ผมให้ความสนใจความ ‘หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง’ และแน่นอนต้องมีความ ‘หลงตัวเอง’ อยู่ด้วย สิ่งที่ศิลปินทั้ง 6 คนอาจจะมีร่วมกันคือรูปแบบของงานที่ดูจะออกห่างไปจาก ‘ความเป็นไทย’ ที่เราต่างคุ้นเคย ความคิดและการทดลอง ทักษะฝีมือและความตั้งใจเป็นสิ่งที่จะเห็นได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ผมไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวใดๆ ยกเว้นความปรารถนาที่จะเห็นนิทรรศการศิลปะที่ ‘ใหม่’ ให้สมตามชื่อของโครงการแบรนด์นิว
อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ภัณฑารักษ์รับเชิญ โครงการแบรนด์นิว 2016
19 กันยายน 2559 กรุงเทพฯ
การจะได้รับยกย่องให้เป็นจอมยุทธ คนผู้นั้นจะต้องมีท่วงท่าร่ายรำที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวกับกระบี่ เหนือไปกว่านั้น กระบี่ต้องอยู่ที่ใจ แม้กิ่งไผ่หรือใบอ้อก็สามารถใช้ประลองยุทธแทนกระบี่ได้ แต่การจะเป็นยอดนั้น ต้องละทิ้งทั้งกระบี่ ปล่อยวางทั้งจิตใจที่จะเข่นฆ่าหรือแก้แค้น ไม่แสวงหาแม้สงครามหรือสันติสุข แล้วจะค้นพบว่าการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่คือ การเอาชนะได้โดยไม่มีการต่อสู้ โลกนี้ไม่มีรางวัลสำหรับนักทำลาย แต่มีรางวัลให้มากมายสำหรับนักสร้างสรรค์
มาดอนน่า ขึ้นรับรางวัล Billboard Women in Music 2016 เธอเริ่มต้นด้วยการถ่างขาออก และพูดประโยคแรกว่า “I always feel better with something hard between my legs.” สำหรับผู้หญิงจำนวนมาก แม้กระทั่งการยืนหรือนั่งแบบถ่างขา ยังทำให้เธอรู้สึกประหม่า ความรู้สึกนั้นเกิดมาจากการขัดเกลาทางสังคมที่ซับซ้อน วัฒนธรรมที่คอยบอกว่าผู้หญิงต้องเรียบร้อย เป็นผู้รองรับ เป็นผู้ดูแล ตัดสินใจเองไม่เป็น ต้องคอยฟัง ต้องหุบปากและหุบทุกอย่างเอาไว้ มันน่าอายอย่าเปิดมันออกมา