“งานศิลปะนั้น (...) เปรียบดังเมล็ดข้าวโพด ที่แต่ละเมล็ดล้วนมีอัตลักษณ์ในตัวเอง และยังคงเอกลักษณ์เมื่อรวมเข้าไว้ด้วยกันเป็นฝักอย่างสมดุล ในขณะเดียวกันศิลปะนั้นเป็นผลิตผลที่เกิดขึ้นจากความอ่อนไหวของการตีความที่แตกต่างกันอย่างนับไม่ถ้วน โดยที่ความหลากหลายนี้มิได้ส่งผลกระทบต่อความจำเพาะของงานศิลปะนั้นแต่อย่างใด ดังนั้นการตอบรับความเห็นของผู้ชมในทุกครั้ง จึงเป็นทั้งการตีความและการแสดงของตัวมัน เพราะทุกความเห็นที่ศิลปะฉวยไว้ ย่อมเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆให้แก่ตัวงานศิลปะเอง”
Umberto Eco , The Open Work, 1962.
จากนิทรรศการแสดงผลงานชุด “Dimensions Variable” ของ เกศ ชวนะลิขิกร ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนตุลาคม-ธันวาคมปีก่อน(2015) ซึ่งในการแสดงงานครั้งนั้น ประกอบไปด้วยจิตรกรรมนามธรรม จำนวน 12 ผลงาน โดยในแต่ละผลงาน มีขนาดและองค์ประกอบที่แตกต่างกัน เมื่อนำมาจัดวางแล้วผลงาน บางชุดก็มีองค์ประกอบ 3 ชิ้นแยกกัน บางชุดมี 5 ชิ้น 6 ชิ้น ไม่ก็ 9 ชิ้น หรือบ้างก็จัดวางเดี่ยวเพียงภาพเดียว สำหรับการแสดงผลงานนิทรรศการ “TRUE or FALSE /รูป – อรูป” ที่จัดแสดง ณ Gallery Seescape เชียงใหม่ครั้งนี้ เป็นการจัดแสดงผลงานบางส่วนจากนิทรรศการครั้งดังกล่าว ร่วมกับผลงานใหม่อีกชุดหนึ่ง คือ ภาพพิมพ์จำนวน 26 ภาพ นำเสนอตัวอักษรภาษาอังกฤษ 26 ตัว ที่จัดทำร่วมกับ กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย ศิลปินและเจ้าของ C.A.P. Studio ผลงานทั้ง 26 ชิ้นนี้ ใช้ระยะเวลาในการผลิตและจัดทำกว่าสองปี เนื่องด้วยกระบวนการที่แตกต่างกันของเทคนิคภาพพิมพ์ การเลือกใช้รูปแบบตัวอักษร สี และการตั้งชื่อผลงานที่ให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับตัวอักษรต่างๆ ซึ่งหากมุ่งพิจารณาตามเกณฑ์ อาทิ ลายเส้น รูปทรง องค์ประกอบ สี และรูปลักษณ์แบบสองมิติ ในกระบวนการทำงานของจิตรกรรมนามธรรมแบบแสดงอารมณ์ความรู้สึก (Abstract Expressionism) นั้น ลัทธิศิลปะแนวนี้ได้ละทิ้งลักษณะทุกอย่างทางศิลปะเสนอลักษณ์ กล่าวโดยสำคัญคือมุ่งไปทางศิลปะบริสุทธิ์โดยปราศจากเนื้อหาภายนอกนั่นเอง
สำหรับผลงานชุด “TRUE or FALSE” เกศ ชวนะลิขิกร ตั้งใจแสดงจุดยืนอันไม่เห็นด้วยกับขบวนการจิตรกรรมนามธรรมแบบแสดงอารมณ์ความรู้สึก ตามที่กล่าวมา ซึ่งในประเด็นนี้ Jasper Johns (เกิดใน ค.ศ.1930) เคยกล่าวไว้ว่า เขานั้นมองศิลปะเป็นเหมือนการสื่อสารทางความคิด และได้ริเริ่มใส่คำหรือตัวเลขต่าง ๆ ลงบนผลงานภาพวาดเชิงนามธรรมของเขา ในภาพที่มีชื่อว่า Gray Numbers ( ค.ศ. 1957) และ False Start (ค.ศ. 1959) โดยมองว่าการกระทำนี้เป็นการนำเนื้อหากลับสู่งานศิลปะอีกครั้ง การนำภาษามาใช้ในงานศิลป์ของ Jasper ถือเป็นต้นเค้าในการพิเคราะห์ถ้อยคำและความหมายของถ้อยคำในงานศิลปะเชิงความคิด (Conceptual art) ช่วงปลายยุค 1960
ย้อนกลับไปนิทรรศการครั้งที่แล้วที่กรุงเทพฯ เกศ ชวนะลิขิกร ได้เขียนอธิบายงานของเขาในสูจิบัตรว่า “...ผลลัพธ์ที่ได้กลับกลายเป็นผลงานที่แสดงอารมณ์ความรู้สึก ไม่ได้นำเสนอเนื้อหาและความหมาย....” เขาได้ลงมือเขียนคำ ( “Time” ) หรือวลี ( “Blame the Weather” ) ลงไปบนภาพนามธรรมของตน จากนั้นก็เปลี่ยนการจัดลำดับภาพวาดนั้นเสียใหม่ ให้คำและวลีดังกล่าวไม่สามารถอ่านออกได้ และเมื่อไม่มีชื่อของงานศิลปะตามคำหรือวลีนั้น ๆ ปรากฏให้เราเห็น เราก็ไม่สามารถอ่าน คำหรือถ้อยวลีที่อยู่บนภาพนั้นออกได้เลย ในประวัติศาสตร์ของงานจิตรกรรม ที่ใช้คำหรือข้อความบนภาพวาดเชิงนามธรรม อย่างงานของ Cy Twombly หรืองานเชิงศิลปะรูปลักษณ์ ดังเช่นงานของ Edward Ruscha เป็นสิ่งที่เห็นได้จนคุ้นชิน แต่เกศได้สร้างรูปแบบศิลปะใหม่ที่อาจจะเรียกว่า ภาพวาดเชิงปฏิพจน์ (Oxymoron paintings) ดังที่เราเห็นได้จากงาน จิตรกรรมนามธรรมและภาษา ที่ผ่านมาของเขา เราจะสามารถเปรียบเทียบเจตนาของเกศที่พยายามแสดงความแตกต่างจากแนวโน้มกระแสหลักของศิลปะเชิงแนวคิด กับความปรารถนาของ Robert Rauschenberg ในผลงาน Erased de Kooning Drawing (ค.ศ. 1953) ที่จะพาตัวเองหลีกลี้ออกจากจิตรกรรมนามธรรมแบบแสดงอารมณ์ความรู้สึกได้หรือไม่ สิ่งที่ชัดแจ้งก็คือไม่ว่าจะเป็นภาพวาดหรือภาพพิมพ์ก็ตาม ผลงานของเกศนั้นล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะแบบเปิดหรือ Open Work ทั้งสิ้น อนึ่ง ในหนังสือชื่อเดียวกัน (Open Work) ที่เขียนโดย Umberto Eco และตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1962 ผู้เขียนได้ให้คำจำกัดความ ศิลปะแบบเปิด ว่าเป็นดั่งความเคลื่อนไหวที่มีพลวัตหรือเป็นกระบวนการที่ไร้จุดจบหรือความหมายที่ถูกกะเกณฑ์ไว้ก่อน กล่าวคือศิลปะแบบเปิดเป็น “งานที่ไม่นิ่ง” เป็นสิ่งที่มีความหมายเฉพาะกาล หรือสามารถมีนิยามได้แตกต่างหลากหลาย และความหมายดังกล่าวก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลของความหมายอย่างไม่หยุดนิ่ง
เกศ ชวนะลิขิกร ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดวางของผลงานของเขาในงานนิทรรศการแต่ละคราว แต่ยังคงชื่อผลงานและส่วนประกอบของภาพไว้ การจัดวางที่ไม่ซ้ำกัน ทำให้เกิดรูปแบบที่แตกต่าง และนับเป็นผลงานใหม่ในทุกครั้งที่จัดแสดงสำหรับนิทรรศการที่ Gallery Seescape ในครั้งนี้มีความต่างจากนิทรรศการที่จัดแสดง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแง่ที่ว่า ศิลปินได้เปิดโอกาสให้ผู้อื่นสามารถจัดเรียงผลงานแทนตัวเขาได้ (ทั้งนี้ Gallery Seescape ยังคงความตั้งใจที่จะรักษาคุณค่าทางสุนทรียะในผลงานของศิลปิน) แต่ผมเห็นว่าเราไม่ควรจะคาดการณ์ในจุดนี้มากเกินไป หรือแม้กระทั่งการเห็นว่าเป็นการกระทำที่มีความเกี่ยวเนื่องกับแนวคิดตามอย่างเรื่อง “มรณกรรมของผู้แต่ง” (The Death of the Author ) ที่ Roland Barthes หรือ Michel Foucault ได้เสนอไว้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว แนวคิดของเกศดูจะใกล้เคียงกับแนวคิดของ Umberto Eco ซึ่งเน้นย้ำว่ากลไกการตีความจักต้องเป็นผลจากการตีความอันสมดุลที่เกิดจากแต่ละส่วนดังต่อไปนี้ กล่าวคือ เป็นการตีความจากชิ้นงานศิลปะประการหนึ่ง ผู้ชมประการหนึ่งและศิลปินอีกประการหนึ่งมากกว่า ผมจึงใคร่ขอกล่าวเชิญชวนทุกท่านเข้าชมผลงานด้วยคำกล่าวของ Umberto ที่ว่า “งานศิลปะเป็นสารที่มีความกำกวมเป็นพื้นฐาน เป็นความหลากหลายของความหมายหรือ สัญญัติต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกันภายใต้สัญญาณเดียวกัน”
Sébastien Tayac
Curator's statement of Figurative Abstraction exhibition by Sébastien Tayac
You feel what you can see or you see what makes you feel?
Come and find out in "Self-Portraits of Others"
ผลงานของ Christopher Stern ศิลปินชาวอเมริกัน ผู้ใช้ฝีแปรงและชั้นของสีนำเสนอฟิกเกอร์ และภาพ Portrait สะท้อนอารมณ์ที่เกิดขึ้นฉับพลัน สื่อบรรยายให้เห็นถึงแรงบันดาลใจที่มีอิทธิพลต่อตัวเขา โดยภาพทั้งหมดถูกวาดขึ้นแบบไม่มีการตระเตรียมล่วงหน้า ให้บรรยากาศดูราวจะได้ยินความเงียบเปล่งเสียงดังออกมา สีหน้า แววตาของภาพแสดงอารมณ์อันหลากหลาย ทั้งชวนตั้งคำถาม และเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้หยุดคิดตีความ
ทีมสถาบันวัฒนธรรมจาก Google เปิดตัวกล้อง Art Camera ตามถ่ายเก็บภาพงานศิลปะชิ้นสำคัญทั่วโลก เอามาเก็บรักษาเป็นไฟล์ภาพแบบดิจิตอล ความละเอียดระดับสูง ใช้เก็บภาพงานศิลปะทั่วโลก