Jongdee Thongkam

multidisciplinary , writing , painting

(การสร้าง)พื้นที่ดลใจ

“งานศิลปะเป็นอาหารสมอง การไปดูงานศิลปะ ภาพยนตร์ การไปทัศนศึกษา การอ่านหนังสือ ล้วนเป็นเรื่องประเทืองปัญญา ”

     ถ้อยคำเหล่านี้เหมือนจะได้ยินจากครู  อาจารย์  ท่านผู้มากประสบการณ์และสติปัญญาหลายท่าน  กล่าวแนะนำในโอกาสต่าง ๆ  ให้คนรุ่นหลังได้มีนิสัยในการเรียนรู้  สังเกต  ค้นหาขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม   ตลอดจนการไปเรียนรู้จากกิจกรรมต่าง ๆ รอบตัว  รวมถึงการชื่นชมงานแสดงศิลปะในสถานที่ต่าง ๆ ด้วย

‘เมื่อให้นิสัย  ก็ได้นิสัย’:  ผู้เขียนมักนิยมยินดีที่จะไปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตามโอกาสที่มีเสมอ  โดยเฉพาะการจัดแสดงงานศิลปะ  ในช่วงเวลาที่ผ่านมา หลายครั้งที่ไปดูงานศิลปะตามแกลเลอรี่ หรือ ที่จัดแสดงงานศิลปะประเภทต่าง ๆ สิ่งที่พบมักไม่ประทับใจ   ไม่ใช่จากสิ่งที่นำมาจัดแสดง   แต่เป็นความพร้อม และความพิถีพิถันใส่ใจในการจัดการเพื่อให้ผู้รับได้รับ ‘สาร’ จากสิ่งที่นำมาแสดงอย่างเต็มที่ที่สุดต่างหาก 

เช่น  การจัดแสดงงานที่มีขนาดใหญ่ในพื้นที่เล็ก ๆ  ที่งานตะโกนเสียงดังไปไกล บางครั้งงานชิ้นเดียวก็ส่งเสียงดังทะลุห้องแล้วยังถูกบีบอัดด้วยงานแสดงชิ้นอื่นอีกหลายชิ้นทำให้พื้นนั้นดูรก  ชุลมุน  รบกวนซึ่งกันและกัน   ขณะเดียวกันเมื่อมีผู้ดูเข้าไปในพื้นที่แสดงงาน  ผู้ดูจะกลายเป็นเหยื่อผู้ถูกพลังจากสารในการจัดแสดงรบกวนจนไม่สามารถรับสารนั้น ๆ ได้เต็มที่  เพราะพลังแห่งการสื่อสารของงานแต่ละชิ้นตีกันแย่งความสนใจซึ่งกันและกัน   ขณะเดียวกันก็ไม่มีระยะของพื้นที่พอที่จะรับสื่อได้อย่างเหมาะสม         ยิ่งในกรณีที่พื้นที่แคบ ผู้คนขวักไขว่   ยิ่งเป็นเหตุให้งานที่นำมาจัดแสดงนั้นกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผนังไปในทันที   ด้วยเหตุว่าสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อให้ ‘สาร’ หลาย ‘สาร’ ได้ทำหน้าที่ของตนต่อผู้รับสาร    รวมถึงผู้ดูเองก็รบกวนกันเองเพราะพื้นที่ไม่เพียงพอให้ ยืนดูงานแต่ละงานในระยะที่เหมาะสมกับงานชิ้นนั้น ๆ ในบรรยากาศที่ไม่ถูกรบกวนได้   
 

เมื่อบรรยากาศของสิ่งแวดล้อมเป็นเช่นที่กล่าวมา  จึงเป็นข้อสังเกตว่าอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมการไปชมงานศิลปะที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับชิ้นงานมากนัก  แต่ไปให้ความสำคัญกับตัวบุคคล  นักสื่อสารมวลชนที่ไปร่วม   รูปแบบการจัดงาน  ความหรูหรา   พิธีการที่เกี่ยวข้อง   โดยมองงานศิลปะเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น  รวมถึงการสร้างบรรยากาศในวันเปิดงานที่เป็นไปเพื่อการพบปะสังสรรค์มากกว่าการให้ความใส่ใจกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาการในการสร้างงานและสารัตถะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่งานศิลปะอันเป็นสิ่งแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดของสมาชิกในสังคมที่ถ่ายทอดออกมาเพื่อสะท้อนอารมณ์ ความคิด ของผู้สร้าง ไม่ได้ถูกซึมซับ รับรู้แต่ได้ถูกทำให้เป็นเพียงเครื่องประดับในสังคม  ว่ามีไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่า  สังคมนี้เป็นสังคมที่เทียบเท่าสังคมอื่นที่ได้ชื่อว่า “ ศิวิไลซ์” ได้      เมื่อตีโจทย์ผิดก็ให้ความหมายผิด  จึงไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านที่ควรจะเป็นและงอกงาม

ภาพบรรยากาศในวันเปิดงานนิทรรศการทางศิลปะส่วนใหญ่มักจะ เป็นไปในทิศทางอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสารัตถะทางศิลปะ  เช่น  การไปเพื่อพบปะผู้คนกลุ่มเป้าหมายอันมีธุระที่ต้องการจะพบ  พบเพื่อนสนิทที่ไม่ได้พบกันนาน  พบกันเพื่อสังสรรค์เฮฮา ฯ   หรือจะเป็นด้วยเหตุว่า   ในสังคมของเราไม่มีพื้นที่ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกิจกรรมการนำเสนอ ‘สาร’  อันเป็นเรื่องประเทืองปัญญาสะท้อนความคิดเห็น  ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ผ่านสื่อ  เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ ระหว่างงาน กับผู้รับสาร   และหรือระหว่างสมาชิกในสังคมเดียวกันในบรรยากาศที่ผ่อนคลายเป็นมิตร และหรือ ในบรรยากาศที่จะรับฟังเรียนรู้ ทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ในรสนิยม  มุมมองทางความคิด จินตนาการที่แตกต่างกัน

 

แล้ว “พื้นที่ดลใจ”  ในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ทางศิลปะ สุนทรียะ  จุดประกายความนึกคิดที่สื่อสะท้อนความเป็นมนุษย์ในแง่งาม  อารมณ์ ความรู้สึกสร้างสรรค์จรรโลงใจของผู้คนในสังคมควรเป็นเช่นไร?  ในช่วงระยะเวลา  10  ปี มานี้  ต้องขอขอบคุณบุคคลและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เล็งเห็นปัญหาเรื่องการสร้างแหล่งเรียนรู้และพื้นที่ดลใจในลักษณะต่าง ๆ ขึ้น เช่น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art and Culture Centre) พิพิธภัณฑ์ศิลปะตั้งอยู่ที่สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพมหานคร   ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ(Thailand Creative & Design Center หรือ TCDC) [1] และพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม[2]

 

ในงานเขียนชิ้นนี้เลือกที่จะกล่าวถึง “ใหม่เอี่ยม” เป็นพื้นที่ดลใจด้วยเหตุหลายประการ  ได้แก่ ความประทับใจในความตั้งใจที่จะให้อย่างใจถึงของสองพ่อลูกผู้สะสมงานศิลปะที่ต้องการจะแบ่งปันผลงานศิลปะร่วมสมัยที่สะสมมากว่า 30 ปีให้คนภายนอกได้ชม  เพราะอยากให้คนเข้าถึงงานศิลปะได้ง่ายขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน  นักเรียนศิลปะ  และผู้สนใจทั่วไป  ด้วยการลงทุนควักกระเป๋าสร้างพื้นที่ดลใจนี้ขึ้นมาเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจทางศิลปะ   ทั้งๆ ที่ไม่ทำก็ได้…

ประเด็นน่าสนใจชวนคิดสำหรับผู้เขียนในฐานะผู้ชม เมื่อแรกเข้าไปในพื้นที่ที่รู้สึกว่าเป็นแกลเลอรี่มากกว่าพิพิธภัณฑ์ อาจเป็นด้วยความทรงจำภาพลบที่มีต่อ “พิพิธภัณฑ์” ในสังคมไทย   แต่ “ใหม่เอี่ยม” เลือกที่จะนิยามตัวเองเป็น ‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย’ ไม่เลือกใช้คำว่า  ‘แกลเลอรี่’  เพราะเป็นที่จัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัย[3] ซึ่งเป็นงานสะสมของเจ้าของกิจการไม่ได้เป็นพื้นที่ขายงาน เพียงขายบัตรเข้าชมมีร้านอาหารและมุมจำหน่ายหนังสือและสินค้าที่ระลึก   ซึ่งราคาอาหารและสินค้าบางอย่างอาจจะสูงไปสักหน่อยในบรรยากาศที่ตั้งซึ่งเป็นชานเมืองเชียงใหม่..  แต่หากพิจารณาถึงต้นทุนที่ลงทุนไปอย่างมหาศาลของเอกชนที่สร้างทำสถานที่แห่งนี้ในลักษณะที่เกือบจะเป็นมูลนิธิเพื่อสนับสนุนให้เกิดแรงดาลใจทางศิลปะ..ก็ทำให้เข้าใจได้ 

 

  “- การเตรียมพื้นที่เพื่อจัดแสดงงานศิลปะควรเป็นเช่นไร มีอะไรเกี่ยวข้องบ้าง?” 

สำหรับผู้เขียนแล้วคำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ไม่เคยมีคำตอบอย่างชัดเจน  เพียงแต่มีความรู้สึกว่าทุกครั้งที่ไปดูงานศิลปะ และหรือไปในที่ที่เป็นพื้นที่ดลใจ   แต่รู้สึกพะวักพะวงกับสิ่งรบกวนรอบข้างที่มารบกวนทำให้ไม่มีสมาธิกับสิ่งที่จะเข้าไปชม(ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น)  ก็มักจะจินตนาการถึงการได้ไปดูงานศิลปะในพื้นที่ที่มีความพร้อมในการที่จะได้เดินดูงานอย่างเต็มอิ่ม  ไม่ถูกรบกวนจากแสง  เงา   ความร้อนจากหลอดไฟที่ส่องชิ้นงาน   ผู้คนที่มาชม  พื้นที่ที่เหมาะสม  การจัดวางงานที่ไม่ตีกันเอง  รวมถึงการมีเอกสารหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพียงพอที่จะสืบค้นด้วยตนเองตามความสนใจเกี่ยวเนื่องกับงานที่นำมาจัดแสดงและ/หรือเกี่ยวข้องกับศิลปินผู้สร้างงาน  เช่น  สูจิบัตรงานนิทรรศการของศิลปินที่จะทำให้ผู้ชมได้เห็นผลงานที่ผ่านมาของศิลปินผู้นั้น รวมถึง สิ่งที่เกี่ยวข้อง  เช่น หนังสือที่เขาหรือเธออ่าน   แรงบันดาลใจที่เกี่ยวข้องกับการสร้างงาน  เป็นต้น

ทาง “ใหม่เอี่ยม” ได้เตรียมพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ให้กับผู้ชมที่สนใจ โดยจัดเป็นมุมอ่านหนังสือที่จะอ่านและพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ในกรณีที่ไปเป็นกลุ่ม  ซึ่งในส่วนนี้ทำให้รู้สึกถึงคำว่า “สังคมอุดมปัญญา และจิตนาการ” นั้นจะเกิดขึ้นได้ด้วยความจริงใจที่จะสร้างทำให้มีขึ้นจริง ๆ   ไม่ใช่การสร้างด้วยการโฆษณาชวนเชื่อแบบล้างสมอง ท่องจำเป็นนกแก้ว นกขุนทอง...

 


[1] TCDC  เปิดให้บริการแก่ประชาชนตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548  ข้อมูลจาก http://www.tcdc.or.th/about/profile/

[2] MAIIAM Contemporary Art Museum  เชียงใหม่ เปิดเมื่อ  3 กรกฎาคม  2559  ข้อมูลจาก  www.maiiam.com

[3] งานศิลปะร่วมสมัย  หมายถึง  งานศิลปะที่นิ่ง ได้แก่  งานประติมากรรม  จิตรกรรม  ภาพพิมพ์  งานออกแบบ  สถาปัตยกรรม  และงานศิลปะที่ไม่นิ่ง รวมอยู่ด้วย เช่น วิดีโอ  ศิลปะจัดวาง  การแสดง แฟชั่นโชว์ ,  เป็นกลุ่มงานที่อยู่ในช่วงทศวรรษ  1950  ถึงปัจจุบัน : ผู้เขียน

Jan 12, 2017
1266 views

Other journal

About
There is no information.
Contact
e-mail: [email protected]