เมื่อคิดถึงหนังสือปรัชญาในประเทศไทย ก็คงต้องบอกว่ามันเป็นประเภทหนังสือที่หาอ่านได้ยากเหลือเกิน ยิ่งเมื่อคิดจะหาหนังสือที่เขียนถึงนักปรัชญาเฉพาะบุคคลแล้ว แม้จะเป็นนักคิดชื่อดัง บางคนก็ยังไม่มีหนังสือภาษาไทยเป็นของตัวเอง หนังสือเกี่ยวกับ ฌาร์ค แดร์ริดา (Jacques Derrida) ก็เช่นกัน หากไม่นับรวมวารสารที่เผยแพร่ตามมหาลัยแล้วล่ะก็ “ภาพยนตร์ของ Derrida และ Derrida ของภาพยนตร์” เล่มนี้ก็น่าจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับแดร์ริดาเล่มแรกๆ ที่เป็นภาษาไทย ทั้งๆ ที่เมื่อพูดถึงนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสประจำศตวรรษที่ 20 แล้ว ชื่อของแดร์ริดามักปรากฏขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ เช่นเดียวกับ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) และอัลแบร์ กามู (Albert Camus) หนังสือเล่มนี้จึงถือว่าเป็นหนังสือหายากเล่มหนึ่งสำหรับเรา ไม่ใช่ในแง่ของจำนวน แต่เป็นแง่ของเนื้อหาและนักปรัชญาที่ถูกกล่าวถึง
ภาพยนตร์ของ Derrida และ Derrida ของภาพยนตร์ ในช่วงต้น (หน้าที่ 1 – 88 จาก 188 หน้า) เมื่ออ่านแล้วก็คงงงๆ ว่ามันเป็นหนังสือของแดร์ริดาจริงหรือ เพราะถึงชื่อหนังสือจะจั่วหัวถึงแดร์ริดาโดยตรง แต่เมื่ออ่านไปกลับรู้สึกเหมือนมันไม่ใช่หนังสือของแดร์ริดาเสียทีเดียว เนื่องจากในช่วงต้นนั้น หนังสือจะพูดถึงภาพรวมของปรัชญาฝรั่งเศส ทั้งแนวคิด ผลกระทบ ข้อโต้แย้ง และอิทธิพลที่มันมีต่อสังคมในประเทศต่างๆ รวมไปถึงการถูกต่อต้านจากนักคิดด้วยกันเองด้วย ดังนั้นเราจึงเห็นชื่อของนักปรัชญามากมาย รวมถึงประวัติโดยย่อของพวกเขา เช่น มิเชล ฟูโกต์, ลีโอ สเตราส์ (Leo Strauss), และสองพี่น้องตระกูลแอนเดอร์สัน (Perry and Benedict O’ Anderson) โดยชื่อของแดร์ริดาจะปรากฎให้เห็นอย่างต่อเนื่องก็เมื่อเข้าสู่ส่วนที่สองของหนังสือ ตรงนั้นเองที่เราได้เห็นว่าทำไมหนังสือเล่มนี้จึงเป็น ภาพยนตร์ของแดร์ริดา และแดร์ริดาของภาพยนตร์ เพราะมันเป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของภาพยนตร์สารคดีชื่อ แดร์ริดา ที่ฉายภาพชีวิตของนักคิดชื่อแดร์ริดา จากนั้นหนังสือจึงอธิบายความคิดของแดร์ริดาต่อภาพยนตร์ และความเชื่อที่แท้จริงของเขา แน่นอนว่ารวมไปถึงข้อโต้แย้งของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแดร์ริดาด้วย แต่มันไม่ได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างส่วนแรกและส่วนที่สองสักเท่าไหร่ กระทั่งเราได้อ่านเรื่อง “ผี” ของแดร์ริดา ในส่วนสุดท้าย มันเหมือนกับภาพทุกอย่างได้ปะติดปะต่อกันและเผยตัวมันเองออกมาอย่างชัดเจนที่สุด หากเป็นนวนิยายสืบสวน มันก็เปรียบเสมือนเวลาที่ตัวเอกเฉลยตัวคนร้ายและกลวิธีที่ใช้ในการฆาตกรรม ทำให้คนอ่านต้องร้องว่า อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง
ในส่วนของความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ นอกจากเนื้อหาและสเน่ห์ของแดร์ริดาแล้ว ก็คงเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่สอดแทรกอยู่ทั่วไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสังคมการเมือง หรือชีวิตของนักคิดบางคน อย่างการที่หลุยส์ อัลธูแซร์ (Louis Althusser) ต้องเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลจิตเวชในช่วงบั้นปลายของชีวิต (เพราะอะไรคงต้องอุบไว้ ให้ทุกคนได้รู้จากหนังสือเอาเอง) การที่นักคิดชาวฝรั่งเศสต้องเขียนงานส่วนหนึ่งให้อ่านไม่รู้เรื่อง หรือการเปรียบเทียบระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยกับยุโรปและอเมริกาตามช่วงเวลาจริง ก็ทำให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนสุดๆ เป็นการสร้างความลึกให้กับเนื้อหา เพราะมากกว่าที่จะเห็นนักปรัชญาแค่แนวคิดของพวกเขา เราได้เห็นไปมากกว่านั้น มากกว่าการเห็นภาพรวมของชีวิตของแดร์ริดา เราได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการวิชาการไทย ฝรั่งเศส อเมริกา และอังกฤษ มันจึงเป็นหนังสือของแดร์ริดา ที่มากกว่าหนังสือของแดร์ริดา
เมื่อพูดถึงภาพรวมทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้ ภาพยนตร์ของแดร์ริดา และแดร์ริดาของภาพยนตร์ ไม่ใช่หนังสือที่อธิบายแนวคิดของแดร์ริดาอย่างแจ่มชัด มันเพียงแค่ร่างโครงสร้างให้เราเห็นภาพคร่าวๆ ของแดร์ริดา ทั้งในด้านของแนวคิดและชีวิตในแวดวงวิชาการ เพราะหนังสือที่มีเพียง 188 หน้า คงไม่สามารถบอกเล่าความคิดอันซับซ้อนของนักปรัชญาร่วมสมัยผู้นี้ได้อย่างเพียงพอ และอย่างที่ได้กล่าวไว้ทั้งในหนังสือ และตัวแดร์ริดาเอง ว่าหากอยากรู้จักเขา ก็ต้องไปอ่านงานของเขา ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็ช่วยจุดประกายความสงสัยที่มีต่อแดร์ริดาได้เป็นอย่างดี และเราเชื่อว่าเมื่อได้อ่าน ภาพยนตร์ของแดร์ริดา และแดร์ริดาของภาพยนตร์ แล้ว ทุกคนก็คงได้เห็นความเป็นแดร์ริดาที่ไม่ใช่แดร์ริดาในแบบที่เราเห็น และอยากทำความรู้จักนักคิดชาวฝรั่งเศสคนนี้มากขึ้นเช่นเดียวกัน แน่นอนว่าทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ภาพร่างความคิดของแดร์ริดาผ่านหนังสือเล่มนี้ได้ที่ห้องสมุดของเรา ACS ยินดีต้อนรับทุกคนค่ะ ;)
Tweet
ไดอารี่ จดหมาย การถาม-ตอบ และบทความที่สนใจ ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงถึงแนวคิดเบื้องหลังการทำงานของศิลปินคนหนึ่ง และการเปิดเผยสิ่งเหล่านั้นให้ผู้คนได้มองเห็นก็เหมือนเอาชีวิตของตนมาตีแผ่เป็นบทความสารคดีเรื่องหนึ่ง นิทรรศการ The Serenity of Madness ก็เป็นเหมือนสารคดีขนาดสั้นที่บอกเล่าเรื่องราวของคุณ อภิชาติพงศ์ ในรูปแบบที่เจาะลึกมากกว่าสารคดีทั่วไป นั่นเพราะมันเป็นเรื่องราวที่ถูกร้อยเรียงขึ้นโดยตัวศิลปิน
บริบททางสังคมกับความรู้สึกภายในของศิลปินมีผลกระทบต่อกันและกันมากขนาดไหน อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้ศิลปินหยิบพู่กันมาวาดรูปสักรูปหนึ่ง และในทุกครั้งที่นั่งอยู่เบื้องหน้ากระดานวาดภาพศิลปินเหล่านั้นคิดอะไรอยู่ในหัว Van Gogh in Context ได้หยิบจับบริบทภายนอกมาบอกเล่าเรื่องราวไปพร้อมๆ กับความคิด พฤติกรรม และคำพูดของศิลปินเอกของโลก Van Gogh ให้ผู้ที่เข้าร่วมนิทรรศการได้เห็นมุมมองที่กว้างขวางและแปลกตาไปจากคำบอกเล่าเดิมๆ ที่มีต่อตัวศิลปินผู้นี้ ที่จะทำให้ความรู้สึกของเราต่างไปจากเดิม
หากพูดถึงศิลปินที่มีชื่อเสียงในการเปลี่ยนนามปากกาและย้ายที่อยู่บ่อยมากพอกับการเป็นที่รู้จักผ่านผลงานอันโด่งดังมากมาย "คัตสึชิกะ โฮะคุไซ" ก็คือศิลปินคนนั้น ไปทำความรู้จักกับประวัติและผลงานในแต่ละยุคสมัย แต่ละนามปากกา ของคุณปู่ที่เรียกตัวเองว่าตาแก่บ้าวาดรูปธรรมดาๆ แล้วตัดสินใจไปพร้อมๆ กันว่า โฮะคุไซ เป็นแค่คนแก่อย่างที่ตนเองกล่าวแค่นั้นจริงหรือไม่ได้ใน KATSUSHIKA HOKUSAI เล่มนี้
"ความไม่เห็นด้วย" เมื่อพูดถึงคำๆ นี้ แน่นอนว่าสิ่งที่หลายคนคิดถึงคงหนีไม่พ้นการโต้แย้ง การมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันของบุคคลสองฝ่าย แล้วความไม่เห็นด้วยนี้จะกลายมาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวได้อย่างไร "ฌาคส์ ร็องซิแยร์" มีคำตอบให้กับคุณ