ถ้าให้พูดถึงหนังสือเล่มนี้ ความรู้สึกแรกที่ได้รับหลังจากอ่านไปไม่ถึงครึ่งบทดีคือ ‘หนังสืออะไรไม่รู้ อ่านไม่เห็นรู้เรื่องเลย’ ด้วยความที่มันเป็นหนังสือที่ใช้ศัพท์เฉพาะ ศัพท์ยากค่อนข้างเยอะ บวกกับการนำเอาการโต้ตอบของนักคิดหลายๆคนเข้ามาใส่ และการเขียนสไตล์วิชาการ ทำให้ Aesthetics and Politics เป็นหนังสือที่อ่านยากอยู่ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะหากผู้อ่านที่ไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับแนวคิดทางศิลปะและการเมืองมาก่อนเลย อาจจะต้องมีการหาข้อมูลประกอบค่อนข้างเยอะจึงจะอ่านเข้าใจว่าทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวอยู่ในหนังสือนั้นคือเรื่องอะไร ไม่งั้นอ่านจนจบเล่มแล้วบางทีอาจยังไม่รู้เลยว่าใครพูดถึงอะไร (หรือบางทีศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วก็ยังไม่เข้าใจ ต้องกลับไปอ่านใหม่อีกหลายๆรอบเหมือนอย่างเรา)
อย่างไรก็ตาม หากเราก้าวผ่านความซับซ้อนทางแนวคิดและเข้าใจเนื้อหา หรือจับประเด็นของหนังสือได้แล้ว Aesthetics and Politics จะเป็นหนังสือที่มีประโยชน์มากเล่มหนึ่งในการศึกษาความเกี่ยวเนื่องระหว่างสังคมการเมืองและศิลปะในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะศิลปะแบบมาร์กซิสม์ที่จะถูกกล่าวถึงค่อนข้างเยอะ ผ่านบทความวิจารณ์และแนวคิดจากสองขั้วที่สนับสนุนศิลปะแบบนามธรรม (Expressionism) และศิลปะแนวสัจนิยม (Realism)
เนื่องจาก Aesthetics and Politics เป็นการนำเสนอรูปแบบการพัฒนาแนวคิดทางศิลปะผ่านนักคิดหลายคน จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่เห็นความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นความเห็นที่ต่างกันระหว่างฝ่ายนามธรรมกับฝ่ายสัจนิยม หรือแม้กระทั่งการเห็นแย้งกันเองของฝ่ายสัจนิยม ดังที่เราจะเห็นได้จากบทความของเบรชท์ (Bertolt Brech) เขาไม่คิดว่าศิลปะเสมือนจริงต้องเป็นศิลปะที่ตายตัวอย่างที่ลูคัคส์ (Georg Lukacs) ต้องการให้เป็น ฯลฯ ซึ่งการโต้ตอบของบุคคลทั้งหมดนี้นี่เองที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่น่าสนใจ แต่ยัง ‘สนุก’ นั่นเพราะเราจะได้เห็นการปะทะคารม การแสดงความเห็นที่เหมือนจะสนับสนุนแต่เมื่ออ่านดูให้ดีกลับไม่ใช่ และการส่งสารที่หากไม่ใช่การโต้ตอบผ่านงานเขียนและจดหมายแล้วล่ะก็ อาจมีการวางมวยกันเกิดขึ้นไม่ ณ จุดใดก็จุดหนึ่งของการอภิปราย เหมือนเราได้นั่งอยู่ในห้องประชุมที่ถูกแบ่งเป็นสามฝ่าย โดยมีฝ่ายที่เถียงกันไป-มา และเถียงกันเองอยู่สองฝ่าย และฝ่ายที่นั่งจิบชาชมการแสดงและยกมือบอกความเห็นของตนเป็นพัก ๆ อยู่อีกฝ่าย ซึ่งแม้ว่าการอธิบายศิลปะผ่านแง่มุมของนักคิดนักวิจารณ์เหล่านี้จะไม่ใช่จุดประสงค์หลักของหนังสือ แต่มันก็ทำให้ Aesthetics and Politics มีมิติที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นไม่น้อยทีเดียว
สรุปก็คือ Aesthetics and Politics อาจไม่ใช่หนังสือสำหรับทุกคน เนื่องจากความยากและความเห็นบางจุดของนักคิดที่ถูกรวบรวมมาอาจตามไม่ทันโลกปัจจุบันนัก เนื่องจากบทความโต้ตอบระหว่างนักคิดที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นในช่วงปีคริสต์ศักราชที่ 1938 – 1977 ซึ่งถ้านับจากครั้งแรกที่ถูกตีพิมพ์ก็สี่สิบปีมาแล้ว แนวคิดบางอย่างจึงค่อนข้างล้าหลังอยู่พอสมควร แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของหนังสือเล่มนี้ด้อยลงแต่อย่างใด เพราะหากเราสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาของมันได้แล้วล่ะก็ Aesthetic and Politics จะกลายเป็นเป็นหนังสือชั้นดีที่หลาย ๆ คน น่าจะอยากหยิบขึ้นมาอ่านอีกครั้งอย่างแน่นอน เพราะมันไม่ใช่แค่ทำให้เราเห็นภาพรวมของพัฒนาการทางศิลปะและการเมืองที่ชัดเจนและตรงประเด็นเท่านั้น แต่ยังมีเกร็ดแนวคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ และความเข้มข้นของข้อโต้แย้งต่าง ๆ ที่นักคิดเขียนโต้ตอบกันให้ติดตามอีกด้วย ถือเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่เมื่อได้หยิบมาอ่านแล้วจะต้องไม่ทำให้ผิดหวังอย่างแน่นอน และถ้าหากคุณสนใจแต่ไม่รู้จะหาอ่าน Aesthetic and Politics เล่มนี้ได้ที่ไหน ทาง ACS หรือ Asian culture station ของเราก็ยินดีที่จะให้ทุกคนแวะเข้ามาอ่านได้ที่ห้องสมุดของเราในช่วงเวลาตั้งแต่ 11 โมง ถึง 1 ทุ่ม ทุกวันอังคาร – อาทิตย์นะคะ ;)
Tweetไดอารี่ จดหมาย การถาม-ตอบ และบทความที่สนใจ ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงถึงแนวคิดเบื้องหลังการทำงานของศิลปินคนหนึ่ง และการเปิดเผยสิ่งเหล่านั้นให้ผู้คนได้มองเห็นก็เหมือนเอาชีวิตของตนมาตีแผ่เป็นบทความสารคดีเรื่องหนึ่ง นิทรรศการ The Serenity of Madness ก็เป็นเหมือนสารคดีขนาดสั้นที่บอกเล่าเรื่องราวของคุณ อภิชาติพงศ์ ในรูปแบบที่เจาะลึกมากกว่าสารคดีทั่วไป นั่นเพราะมันเป็นเรื่องราวที่ถูกร้อยเรียงขึ้นโดยตัวศิลปิน
บริบททางสังคมกับความรู้สึกภายในของศิลปินมีผลกระทบต่อกันและกันมากขนาดไหน อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้ศิลปินหยิบพู่กันมาวาดรูปสักรูปหนึ่ง และในทุกครั้งที่นั่งอยู่เบื้องหน้ากระดานวาดภาพศิลปินเหล่านั้นคิดอะไรอยู่ในหัว Van Gogh in Context ได้หยิบจับบริบทภายนอกมาบอกเล่าเรื่องราวไปพร้อมๆ กับความคิด พฤติกรรม และคำพูดของศิลปินเอกของโลก Van Gogh ให้ผู้ที่เข้าร่วมนิทรรศการได้เห็นมุมมองที่กว้างขวางและแปลกตาไปจากคำบอกเล่าเดิมๆ ที่มีต่อตัวศิลปินผู้นี้ ที่จะทำให้ความรู้สึกของเราต่างไปจากเดิม
หากพูดถึงศิลปินที่มีชื่อเสียงในการเปลี่ยนนามปากกาและย้ายที่อยู่บ่อยมากพอกับการเป็นที่รู้จักผ่านผลงานอันโด่งดังมากมาย "คัตสึชิกะ โฮะคุไซ" ก็คือศิลปินคนนั้น ไปทำความรู้จักกับประวัติและผลงานในแต่ละยุคสมัย แต่ละนามปากกา ของคุณปู่ที่เรียกตัวเองว่าตาแก่บ้าวาดรูปธรรมดาๆ แล้วตัดสินใจไปพร้อมๆ กันว่า โฮะคุไซ เป็นแค่คนแก่อย่างที่ตนเองกล่าวแค่นั้นจริงหรือไม่ได้ใน KATSUSHIKA HOKUSAI เล่มนี้
"ความไม่เห็นด้วย" เมื่อพูดถึงคำๆ นี้ แน่นอนว่าสิ่งที่หลายคนคิดถึงคงหนีไม่พ้นการโต้แย้ง การมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันของบุคคลสองฝ่าย แล้วความไม่เห็นด้วยนี้จะกลายมาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวได้อย่างไร "ฌาคส์ ร็องซิแยร์" มีคำตอบให้กับคุณ