การอ่านหนังสือปรัชญาที่มีนักปรัชญาหนึ่งคน คือการเรียนรู้แนวคิดของนักปรัชญาหนึ่งคนคนนั้น การอ่านหนังสือปรัชญาที่มีนักปรัชญาสองคน ก็เหมือนกับการสังเกตุการเติบโตของแนวคิดและสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบบขั้วเดียวหรือสองขั้วก็ตาม แต่ถ้าในหนังสือเล่มนั้นมีนักปรัชญามากกว่าสองคนมาโต้ตอบกันแล้วล่ะก็ คุณจะได้เห็นการต่อสู้ในโคลอสเซียม แบบที่มีคู่ต่อสู้มาโผล่มาจากทุกทิศทางและโจมตีโดยไม่สนว่าจะเป็นพวกเดียวกันหรือไม่ มันคือความบันเทิงในสายวิชาการที่ไม่ว่าจะเห็นกี่ครั้งก็อยากเข้าไปร่วมชมด้วยทุกครั้งไป
"ภาพยนตร์เป็นศิลปะแห่งผี สงครามของผี ภาพยนตร์คือศิลปะที่จะทำให้ผีกลับมา" คือคำพูดส่วนหนึ่งจากบทกล่าวตาม "ผี" ของแดร์ริดาที่แปลโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา สังคมของเราเต็มไปด้วยผี สังคมของเราเป็นไปอย่างทุกวันนี้ก็เพราะผี ไม่ว่าจะเป็นผีของมาร์กซ์ ผีของอดัม ผีของอิมมานูเอล แล้วความหมายของผีในที่นี้คืออะไร เราสามารถตามหาเค้าลางของผีได้ในหนังสือเล่มนี้ "ภาพยนตร์ของ Derrida และ Derrida ของภาพยนตร์"
การอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนกับการนั่งต่อจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นเข้าด้วยกันเป็นภาพใหญ่ แต่ในขณะเดียวเดียวกัน ภายในชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆเหล่านั้นก็ยังมีจิ๊กซอว์ชิ้นที่เล็กกว่ารวมตัวกันอยู่ เป็นการแสดงให้เห็นภาพรวมของศิลปะอย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังคงชัดด้วยรายละเอียดเล็กๆ ที่สอดแทรกอยู่ทั่วไปในแต่ละบท
เมื่อพูดถึงการผลิตซ้ำ เรามักจะนึกถึงกระบวนการผลิตแบบสายพานขนาดใหญ่ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงอุปกรณ์และส่วนประกอบของสินค้าต่างๆ ออกมาพร้อมๆกันเป็นจำนวนมาก จนเรียกอีกอย่างได้ว่าเป็นการผลิตจำนวนมาก (Mass production) แต่ใครจะรู้กัน ว่าการผลิตซ้ำหรือการผลิตเป็นจำนวนมากนี้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เพราะแอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) ได้ทำให้ศิลปะกลายมาเป็นสิ่งที่สามารถผลิตซ้ำได้ เช่นเดียวกันกับรถยนต์ นาฬิกา และอาหารกระป๋อง โดยที่ตัวชิ้นงานเหล่านั้นยังคงสะท้อนความเป็นวอร์ฮอลออกมาสู่สายตาคนทั่วไป