รากฐานเชิงภววิทยาของ This page is intentionally left blank (2019): ความแปลกแยกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

รากฐานเชิงภววิทยาของ  This page is intentionally left blank  (2019): ความแปลกแยกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

(This page is intentionally left blank  (2019)  as Autopoietic Form)

 

This page is intentionally left blank, 2019 at Bangkok City City, 2 ธันวาคม 2561 - 27 มกราคม 2562

-Artist: ปรัชญา พิณทอง

-Curator: ธนาวิ โชติประดิษฐ

 

 

               This page is intentionally left blank (2018-9) โดย คุณ ปรัชญา พิณทอง เป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงและเพิ่งสิ้นสุดลงไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม ผู้เขียนคาดว่าผู้อ่านหลายๆท่านคงจะได้อ่านบทวิเคราะห์มากอยู่บ้างแล้วเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ ในทัศนะของผู้เขียน บทวิเคราะห์เหล่านั้นมักเจาะจงไปที่ “สาร” หรือชุดความคิดบางอย่างที่ตัว “สื่อ” กระตุ้นและนำพาพวกเขาเหล่านั้นไป อย่างไรก็ตามบทความนี้ผู้เขียนต้องการวิเคราะห์ในมุมอื่น นั่นคือลักษณะเชิง “ภววิทยา” (ontology)  ของผลงานชิ้นนี้ ผู้เขียนคาดว่าผู้อ่านที่สนใจเรื่องทฤษฏีคงจะสนุกกับมันอยู่บ้าง

 

               บทความชิ้นนี้จงใจที่จะวิเคราะห์ผลงานชิ้นนี้ในมิติมิติเชิงภววิทยา มิติดังกล่าวถูกกล่าวถึงอยู่บ้างเมื่อผู้เขียนทำการทบทวนวรรณกรรม (literature review) เกี่ยวกับ This page is intentionally left blank เช่น การเปรียบนิทรรศการนี้เป็นดั่งหมู่บ้านหมู่บ้านหนึ่งผ่านกรอบคิดเชิงมานุษยวิทยา โดย คุณ สมัคร์ กอเซ็ม และ คุณ ประพันธ์ แจ้งกิจชัย ที่มองมณฑลดังกล่าวภายใต้กรอบ actor-network theory  ผู้เขียนก็มองงานชิ้นนี้ภายใต้กรอบที่คล้ายกันกับทั้งสองท่าน นั่นคือ วิถีวิเคราะห์ภายใต้ฐานคิดของ post-humanism หรือการมองว่า วัตถุ และ มนุษย์ นั้นสำคัญเท่าๆกัน แต่สิ่งที่บทความนี้ต้องการ คือการขยายลงไปให้ลึกยิ่งกว่าการนิยามว่านิทรรศการนี้เป็นชุดระบบระบบหนึ่งเพียงเท่านั้น ผู้เขียนเปรียบนิทรรศการนี้เป็นร่างกายที่มีระบบอยู่ภายในซึ่งประกอบไปด้วยอวัยวะ หรือ วัตถุทางศิลปะ เช่น ที่กั้นรถ และ บันทึกประจำวัน แต่สิ่งที่บทความนี้พยายามค้นหาก็คือ อะไรที่ทำหน้าที่เป็นดัง – เลือดที่ไหลเวียนภายในร่างกาย –  และเชื่อมโยงอวัยวะเหล่านี้ให้สามารถทำงานได้เป็นองคาพยพเดียวกัน พลวัตของมันคืออะไรกันแน่

             

Autopoietic Form/ Organic line

 

              Irene V. Small นักทฤษฏีศิลปะจากมหาวิทยาลัย Yale เปิดมุมมองต่อการศึกษาภววิทยาของวัตถุทางศิลปะไว้ในบทวิจัยบทหนึ่งชื่อว่า “Medium Aspecificity/Autopoietic Form” หากแปลเป็นภาษาไทยแล้วก็คือ อัตตาณัติของสื่อกลาง และ การคงสภาพของ form ผ่านระบบภายในตัวของฟอร์มเหล่านั้นเอง Small เชื่อว่า สื่อ หรือ medium เกิดขึ้นจาก form ที่มี “ปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน” การปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดย “ธรรมชาติ” และอยู่นอกเหนือไปกว่าการควบคุมของศิลปินเองในขณะที่ศิลปินเป็นเพียงผู้เรียบเรียงขึ้นมาเท่านั้น Small ยกตัวอย่างผ่านการทำงานศิลปะของ Lygia Clark: Discovery of the Organic Line (1954) Clark ค้นพบมูลฐานของการมีอยู่ของ form เธอค้นพบ “เส้นที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ” เมื่อเธอลงสีซ้อนชั้นกัน เส้นขอบ หรือ จุดตัดระหว่างชั้นสี ซึ่งทำหน้าที่เป็น frame ที่เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ เส้นเหล่านี้ทำให้เกิด form ขึ้นมาและในขณะเดียวกันก็รักษาความเป็น form นั้นให้คงอยู่อีกด้วย  ส่วน medium นั้นคือความเป็นไปได้ของสื่อกลางที่จะทำให้เกิด form เหล่านี้ขึ้น ในกรณีนี้คือ พื้นผ้าใบ และ สี ที่ถูกป้ายลงไป สื่อกลางจึงไม่มีความตายตัวหรือแม้แต่จะอยู่ภายใต้การควบคุมของศิลปินเอง มือของศิลปินเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ส่วนสิ่งที่ถูกคลอดออกมาจะดำเนินและดำรงค์อยู่ภายใต้กฏของมันเอง ในฐานะของ byproduct ของการกระทำ ในบทวิจัยดังกล่าว Small นำรูปแบบการศึกษาภววิทยาของผลงานศิลปะนี้ไปศึกษาผลงานศิลปะร่วมสมัยในรูปแบบอื่นๆเช่นกัน

(Lygia Clark, Discovery of the Organic Line, 1954, oil on canvas )

ภาพจาก: https://smarthistory.org/lygia-clark-bicho/

 

This page is intentionally left blank (2018-9) as Autopoietic Form

 

              ผู้เขียนเชื่อว่าหากพิจารณา This page is intentionally left blank ภายใต้กรอบวิเคราะห์ของ Small (Autopoietic form) ผู้เขียนจะสามารถเข้าใจถึงอนุภาคมูลฐานที่กอปรขึ้นเป็น “ศิลปะ” (work of art) ของชิ้นงานนี้ หรือ สิ่งที่เป็นหน่วยย่อยเล็กที่สุดภายในร่างกายของมัน อะไรที่ยึดโยง “สื่อกลาง” ต่างๆ -- ที่กั้นรถ กำแพงสีขาวจากหอศิลป์เจ้าฟ้า บันทึกประจำวันจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ลานจอดรถหลัง Bangkok CityCity ห้องจัดแสดง Bangkok CityCity และท้ายสุดคือ ผู้ชม -- หากสรุปในเชิงปรัชญากว้างๆแล้ว วิถีวิเคราะห์นี้อยู่ภายในฐานคิด Object-oriented Ontology (OOO) แต่ก่อนนั้นผู้เขียนอยากจะทบทวนบทวิเคราะห์ของตนเองเสียก่อนเกี่ยวกับ “สาร” ของงานชิ้นนี้

 

              ผู้เขียนเคยวิเคราะห์ในมิติของ “สาร” ไว้ตั้งแต่วันเปิดงานแต่ถูกเขียนไว้ในพื้นที่ส่วนตัวและไม่ได้เผยแพร่ออกไป แต่หากสรุปโดยสั้นแล้ว ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่ผลงานชิ้นนี้สะท้อนก็คือการ “รื้อสร้าง” กระบวนการการสร้างศิลปะผ่าน “การนำสิ่งที่เป็นเบื้องหลังของกระบวนการการผลิตความเป็นศิลปะมาสู่เบื้องหน้า”:

1.การมีอยู่ของบุคลากรทางสถาบันศิลปะในเบื้องหลังที่ถูกนำเสนอผ่านบันทึกประจำวันจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

2. สีขาวทีใช้ทากำแพงในหอศิลป์เจ้าฟ้าที่ถูกนำเสนอและให้ความสำคัญขึ้นมาผ่านป้ายกำกับ “สีขาว 4Seasons A1000”

3. ที่กั้นรถที่มีต้นแบบมาจากที่จอดรถด้านหลังของ Bangkok CityCity Gallery พร้อมด้วยประตูหลังของห้องนิทรรศการที่ถูกเปิดออกทำให้พื้นที่ฉากหน้าและฉากหลังของนิทรรศการถูกเบลอเข้าหากันเป็นส่วนเดียว

 

โดยสรุปแล้ว หน้าฉากของนิทรรศการ หรือ This page is intentionally left blank นี้ก็คือการส่องแสงสว่างให้กับพื้นที่ฉากหลังผ่านวาทศิลป์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขับเน้นวัตถุผ่านการรับรู้ที่ผิดที่ผิดทางจากวิถีปกติ เช่น บันทึกประจำวันและที่กั้นล้อรถ หรือ การใช้ป้ายกำกับสำหรับสีเพื่อสร้างความเฉพาะและความเป็นเอกเทศให้กับสีของกำแพง สำหรับผู้เขียนแล้วทั้งหมดนี้คือ “สาร” ที่นิทรรศการนี้พาไปถึง ข้อสรุปเกิดจากการตั้งคำถามโดยผู้เขียนเองต่อวัตถุเหล่านี้ว่าทำไมมันจึงมีอยู่หรือถูกนำเสนอโดย ปรัชญา พิณทอง

 

              ทว่าข้อสรุปที่เกิดจากขบวนการขบคิดนี้ กลับทำให้ผู้เขียนย้อนกลับไปมองว่าปัจจัยใดที่ทำให้ผู้เขียนสามารถเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน สิ่งนั้นก็คือ “ความสัมพันธ์ทางภาษา” ความแปลกแยกระหว่างชุดวาทกรรมเก่าที่ผูกติดกับบริบทเก่ากับชุดวาทกรรมใหม่ที่ผูกติดกับบริบทใหม่นั้นคือสิ่งที่ผู้เขียนมองว่าเป็น “ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ” หรือ organic line ในนิยามของ Small “ความแปลกแยก” ที่เกิดขึ้นในระบบภาษาที่ยืนอยู่บนฐานของญาณวิทยาเชิงสัมพัทธ์นี้ คือ “อนุภาคมูลฐาน” หรือหน่วยย่อยที่สุดที่ประกอบสร้าง form ในมิติเชิงญาณวิทยา หรือ work of art ของชิ้นงานนี้ ความแปลกแยกนี้นั่นเองที่เป็น autopoietic form ที่หล่อเลี้ยงชิ้นงานนี้ไว้ ความแปลกแยกที่มิอาจกับกำได้โดยศิลปินเนื่องจาก ผู้ชม ล้วนมองเห็นความแปลกแยกนี้ในรูปแบบของตัวเองตามขอบฟ้าเชิงญาณวิทยาที่ตนเองเห็น หากกายภาพของชิ้นงานเปรียบเป็นดังร่างกาย ความแปลกแยกนี้คือระบบเส้นเลือดภายในที่มองไม่เห็น หากแต่หล่อเลี้ยงและยึดโยงทุกสิ่งเข้าไว้เป็นองคาพยพเดียว

 

              ยกตัวอย่างเช่น บันทึกประจำวันจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุดวาทกรรมเก่าคือ สิ่งที่ทำหน้าที่ในเชิงฟังก์ชั่นสำหรับบันทึกกิจกรรมของบุคลากรที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการทางศิลปะ หากพูดให้ชัดก็คือ กลุ่มคนที่เป็นฟันเฟืองให้พิพิธภัณขับเคลื่อนต่อไปได้ เป็นแรงงานเบื้องหลังที่ถูกมองข้าม หากแต่ขาดไปไม่ได้ในเชิงปฏิบัติ การโยกย้ายวัตถุเข้ามาอยู่ที่ฉากหน้าของ This page is intentionally left blank เมื่อมาอยู่ในแวดล้อมใหม่ ชุดวาทกรรมใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้นไปพร้อมกัน นั่นคือ บันทึกที่อยู่ในบทบาทของวัตถุทางศิลปะ กระบวนการเปลี่ยนแปลงความหมายนี้ เกิดขึ้นจากความแปลกแยกระหว่างบริบทเก่าและใหม่

 

     

ขอขอบคุณ 2 ภาพด้านบน จาก คุณ สมัคร์ กอเซ็ม

 

อ้างอิงภาพจาก: https://thematter.co/thinkers/this-page-is-intentionally-left-blank/69640?fbclid=IwAR0FUHM34JLaLMI1XVwpep9qFcK8ssFf5RIlCY7wAC3L2Uhj_O3HBs-7-lk

 

                 อีกหนึ่งตัวอย่างคือ ที่กั้นจอดรถ พร้อมกับประตูห้องนิทรรศการที่เปิดออกให้เห็นถึงแหล่งอ้างอิงของมันที่อยู่ด้านหลัง การสลายพื้นที่ระหว่างฉากหน้าและหลังนี้เองที่สร้างเส้นบางๆที่มองไม่เห็นขึ้น เป็นเส้นกั้นระหว่าง บริบทเก่าและใหม่ “ช่องประตูนั้น” คือจุดตัดของความแปลกแยกนั่นเอง ส่วนลูกเล่นการจัดเรียงที่กั้นเมื่อระยะเวลาผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งซึ่งมีถึง 9 รูปแบบนั้น ก็เล่นกับเส้นขอบฟ้าเชิงญาณวิทยาของผู้ชมเช่นกัน ผู้ชมบางท่านอาจมาชมหลายครั้ง และสังเกตเห็นรูปแบบที่เปลี่ยนไป ในขณะที่บางท่านได้เห็นเพียงรูปแบบเดียว การเกิดขึ้นของสุนทรียะเชิงปรากฏการณ์นี้จึงขึ้นอยู่กับว่า ผู้ชมมองเห็นการเปลี่ยนแปลงระหว่างรูปแบบนี้หรือไม่ เนื่องจากปฏิบัติการดังกล่าวไม่ได้ถูกเขียนหรือบอกไว้ในนิทรรศการ สุดท้ายสิ่งที่เป็นแก่นแท้ของปรากฏการณ์นี้ก็คือการรับรู้ถึงความแตกต่างและเปลี่ยนไประหว่างบริบทเก่าและใหม่

 

                 ส่วนการเขียนป้ายกำกับว่าสีของกำแพงว่าคือ สี “4Seasons A1000” ซึ่งมาจาก หอศิลป์เจ้าฟ้า ก็คือการสร้างชุดวาทกรรมใหม่เข้าไปว่าสีของกำแพงนี้เป็นสื่อทางศิลปะเช่นกัน กำแพงในฐานะสื่อทางศิลปะจึงเกิดขึ้นจากความแปลกแยกออกจากบริบทเดิม นั่นคือการที่กำแพงและสีเป็นสิ่งที่มักถูกมองข้ามอยู่เสมอ แม้จะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนิทรรศการทั่วๆไป ความแปลกแยกระหว่างบริบทที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเหล่านี้เองที่เป็น form ที่เกิดขึ้นภายในงาน และหล่อเลี้ยง “สื่อกลาง” เหล่านี้ไว้ ความแปลกแยกนี้เองเป็นสิ่งที่ผู้ชมจะเผชิญโดยอัตโนมัติ แต่มันจะนำไปสู่ “สาร” ใด นั่นขึ้นอยู่กับเส้นขอบฟ้าเชิงญาณวิทยาที่ผู้ชมชั้นจะเห็น รวมถึงการตั้งคำถามอื่นๆอีก เช่น ทำไมต้องเป็น หอศิลป์เจ้าฟ้า และ ทำไมบันทึกถึงต้องมาจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สำหรับผู้เขียน บริบทเก่าที่หลากหลายเหล่านี้ กำลังถูกทลายลงให้เหลือเพียงโครงสร้างเมื่อมันถูกนำมาสลายรวมกันในพื้นที่นิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรทางศิลปะแบบใด ล้วนแต่มีกระบวนการทางการสร้างงานศิลปะที่คล้ายกัน นั่นคือ การรื้อสร้างกระบวนการทางศิลปะ ที่ผู้เขียนคิดว่าเป็น สาร ของงานชิ้นนี้

 

               ทว่า การวิเคราะห์ สื่อกลางทางกายภาพทั้ง 3 ชิ้น และ form ที่เกิดขึ้นในแต่ละสื่อดังที่เพิ่งวิเคราะห์ไปนี้ มันถูกเชื่อมโยงเป็นองคาพยพเดียวกันได้อย่างไร อะไรคือเส้นหล่อเลี้ยงที่มองไม่เห็น คำถามนี้พาผู้เขียนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นนั่นคือ ชื่อของชิ้นงาน -- This page is intentionally left blank ความหมายเชิงภววิทยาของมัน คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยเลี่ยงไม่ได้ในกระบวนการผลิตสิ่งพิมพ์ต่างๆ ผลิตภัณฑ์เหล่านั่นคือ ผลผลิตเชิงญาณวิทยาหรือก็คือการสร้างความรู้ใหม่ เช่นกันเดียวกับในนิทรรศการศิลปะ สิ่งที่มิอาจเลี่ยงได้ในเชิงปฏิบัติก็คือ เบื้องหลังหรือฉากหลังการผลิตทั้งหมด การนำมาตั้งเป็นชื่อของนิทรรศการนั้นคือ การร้อยเรียง archetype หรือ โครงสร้างที่เหมือนกันของ form ทั้ง 3 ชิ้น: ที่กั้นรถ สีกำแพง บันทึกประจำวัน เอาไว้เข้าด้วยกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือชุดวาทกรรมใหม่ ว่าทั้งหมดเป็นชิ้นงานชิ้นหนึ่งที่เป็นงานศิลปะ การกระทำดังกล่าวที่ทำให้เกิดความแปลกแยกขึ้นระหว่างบริบทใหม่กับบริบทเก่าของพวกมันนี้ ทำให้เกิดการรับรู้ถึงความแปลกแยกที่เกิดขึ้นและเป็นเส้นทางไปสู่ work of art หรือ ความเป็นศิลปะของชิ้นงานนี้

 

              - สุดท้ายนี้ผู้เขียนขออภัยถ้าไม่ได้กล่าวถึงนักเขียนท่านอื่นที่เขียนเกี่ยวกับงานชิ้นนี้ทั้งหมดไว้ ณ ที่นี้ หรืออาจขยายความไว้ไม่มาก สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์อ้างอิงด้านล่างครับ

 

อ้างอิง

 

บทความของคุณ ประพันธ์ แจ้งกิจชัย: https://themomentum.co/this-page-is-intentionally-left-blank/

 

บทความของ คุณ สมัคร์ กอเซ็ม : https://thematter.co/thinkers/this-page-is-intentionally-left-blank/69640?fbclid=IwAR0b7BfIm2nn_z-EAZVotziDUDbdq22ZURzH5urT51x4Oc1bKwnxde_MZiY

 

Small, Irene, “Medium Aspecificity/Autopoietic Form” in Dumbadze and Hudson, eds. Contemporary Art : 1989 to the Present. Chichester, West Sussex: John Wiley & Sons, Inc., 2013, 117-125.

 

ภาพ

https://smarthistory.org/lygia-clark-bicho/

https://thematter.co/thinkers/this-page-is-intentionally-left-blank/69640?fbclid=IwAR0FUHM34JLaLMI1XVwpep9qFcK8ssFf5RIlCY7wAC3L2Uhj_O3HBs-7-lk

Feb 3, 2019
1916 views

Other journal

  • Of Art-Making in The Collector 0.01% (Critical review of an exhibition )

    บทความนี้เป็นการวิเคราะห์ชิ้นงาน และนิทรรศการ The Collector 0.01% โดย ปัญจพล นาน่วม ที่ Cartel Artspace ในช่วงเวลา 6-21 ก.ค. ตัวเนื้อหาเป็นมุมมองประเด็นต่างๆ และศิลปะการใช้สื่อทางกายภาพเพื่อขับเน้นความเป็นศิลปะให้เกิดขึ้่นอย่างมีประสิทธิภาพ
    Keywords: ความเป็นศิลปิน, กรอบ, ขนาด, การสะสม, performativity

    Nonthachai Sukkankosol
    Jul 13, 2019
    1668 views

  • ข้อจำกัดภายใต้โครงสร้างเทศกาลศิลปะแบบ Biennale: งานศิลปะพื้นที่เฉพาะและอัตตาณัติของชิ้นงานศิลปะ

    ปรากฏการณ์การแพร่กระจายของเทศกาลศิลปะ biennale ได้เข้มข้นขึ้นและกระจายไปอยู่ทั่วทุกมุมโลกโดยเฉพาะในช่วงทศวรรตที่ผ่านมา ในแต่ละปีนั้นมีการจัดงาน biennale ขึ้นมากมายในหลายๆประเทศ ในปี 2018 หากนับเพียงเทศกาลที่จัดขึ้นในลักษณะที่เป็นทางการแล้วมีถึง 10 เทศกาลทั่วโลก และในปี 2019 จะมีเทศกาลที่เปิดเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนกว่า 24 เทศกาล การเติบโตของวัฒนธรรม biennale จึงเป็นประเด็นที่สำคัญเพราะเทศกาลศิลปะเหล่านี้มีบทบาทเป็นอย่างมากในการทำหน้าที่เป็นหน้าฉากและตัวเชื่อมระหว่างโลกศิลปะกับพื้นที่สาธารณะ

    Nonthachai Sukkankosol
    Jan 27, 2019
    1559 views

About
There is no information.
Contact
e-mail: [email protected]