Of Art-Making in The Collector 0.01% (Critical review of an exhibition )

มีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการ The Collector 0.01% โดย ปัญจพล นาน่วม ที่ Cartel Artspace (6-21 ก.ค.) แล้วรู้สึกว่าเป็นนิทรรศการที่น่าสนใจ และชอบเป็นการส่วนตัว ทั้งในเชิงคอนเซ็ปตั้งต้น วิธีการนำเสนอ และกระบวนการทำงาน บทความนี้เลยอยากจะมาวิเคราะห์ชิ้นงานและนิทรรศการนี้สักหน่อย (คอนเซ็ปของงานจะขอข้ามไปเลย สามารถลองอ่านได้จากในคำบรรยายนิทรรศการในเพจของ Cartel Artspace) 

ประเด็นแรกขอเข้าที่วิธีการนำเสนอแนวคิดผ่านชิ้นงาน หรือ การ Execution ว่าด้วยการเลือกใช้ วัสดุ และ ฟอร์ม ต่างๆ ของชิ้นงาน

การใช้ “กรอบ” (Frame) ดังที่เข้าใจกันทั่วไป ในโลกศิลปะสมัยใหม่ (Modern art) บทบาทของกรอบคือ ส่วนเสริม (parergon) ในการขีดเส้นแบ่งว่าสิ่งใดเป็นศิลปะ และสิ่งใด ไม่ใช่ศิลปะ ผลงานที่เข้ากรอบแล้วเท่านั้น ที่จะถูกเรียกว่า เป็นชิ้นงานศิลปะที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะในกรณีของภาพวาด ดังที่พบเห็นได้เวลาไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 19 ทว่า สิ่งที่มาพร้อมกับบทบาทดังกล่าวก็คือคุณค่าเชิงวัฒนธรรม หรือ กรอบในฐานะ cultural capital  ภาพวาดของบุคคลหนึ่ง จะถูกแปรสภาพเป็นภาพวาดที่มีค่าได้นั้น จำเป็นต้องมี กรอบ มาสร้างความหมายให้แก่มัน กรอบในฐานะสื่อกลางการให้ความหมายจึงต้องถูกทำขึ้นมาอย่างปราณีตโดยช่างที่มีทักษะที่คู่ควร ตามครรลองของช่วงเวลานั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นไปตามคุณค่าในเชิงของตัวชิ้นงานเองหรือผู้ที่รังสรรค์มันขึ้นมา ในโลกทัศน์ ณ เวลานั้น  การใช้กรอบสีทองพร้อมรวดลายมากมายของThe Collector 0.01% เป็นรูปแบบที่อ้างอิงถึง “กรอบ” ที่กล่าวมาข้างต้นนี้อย่างชัดเจน หากมองบนบรรทัดฐานข้างต้นนี้ ก็คงจะพูดได้ว่า “กรอบดูแพงขนาดนี้ ผลงานก็ต้องมีค่ามากยิ่งกว่าอีก” แต่การเล่นกรอบใน The Collector 0.01% นั้นกลับสื่อสารได้อย่างชัดเจนถึงการท้าทายและล้อเลียนคุณค่าเชิงวัฒนธรรมที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะผ่านการเล่นกับ “ขนาด” ในขณะที่โดยทั่วไปแล้ว กรอบ อย่างไรก็ตามจะเล็กกว่าส่วนที่อยู่ตรงกลางอยู่เสมอ แต่กรอบในนิทรรศการนี้ มีขนาดที่ใหญ่มากกว่าส่วนที่อยู่ตรงกลางไม่รู้กี่เท่า หากสรุปแบบบ้านๆ ก็คงสรุปได้ว่า ถ้ากรอบใหญ่ขนาดนี้ สิ่งที่มันห้อมล้อมไว้หรือเพื่อเสริมคุณค่าให้อยู่นั้นจะต้องมีค่ามากมายมหาศาลแน่ เพราะ “ลงทุน” กับกรอบมากเสียกว่าส่วนที่อยู่ตรงกลางเสียอีก การเล่นเกี่ยวกับกรอบนี้จึงกลับมาสอดคล้องกับการตั้งคำถามของศิลปินที่ว่า “เศษเหล่านี้ เป็นเพียงขยะส่วนเกิน เป็น noise หรือเป็นชิ้นงานศิลปะที่มีค่ากันแน่” การทำงานของกรอบในนิทรรศการนี้จึงแปลสภาพจากสถานะของส่วนเสริม มาเป็นกุญแจหลักที่สำคัญ ในการไขเข้าไปทำความเข้าใจต่อ “ความเป็นศิลปะ” ของชิ้นงานเหล่านี้

(ภาพจาก เพจ Cartel Artspace)

ประเด็นที่สอง คือ รูปแบบและคำนิยามของ “ส่วนเกิน” ที่แตกต่างกันไป ในนิทรรศการนี้ ผู้เขียนสรุปได้ว่ามี 2 รูปแบบกว้างๆ คือ ส่วนเกินที่ผลัดตัวเองออกมาจากชิ้นงาน เปรียบเหมือนขี้ไคลหรือเซลล์ที่ตายแล้ว ที่ถูกทำให้เห็น และ ส่วนเกินหรือ noise ที่อยู่ภายในชิ้นงานอยู่แล้วหรือเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน              

รูปแบบแรกชัดเจนอยู่แล้ว ผ่านชิ้นงานที่อยู่ในกรอบทอง ในลักษณะของเศษฝุ่นจากชิ้นงานต่างๆของมัน ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ส่วนที่ตายแล้วของชิ้นงานเหล่านี้ มีค่าและเป็นชิ้นงานศิลปะหรือไม่

รูปแบบที่ 2 ขอเน้นไปที่ชิ้นงาน video ที่อ้างอิงถึง Hito Steyerl ผมมองว่าเป็นชิ้นงานที่มีความสำคัญมากในนิทรรศการนี้ เพราะนำเสนอมุมมองที่แตกต่างจากชิ้นอื่นๆ ในขณะที่ชิ้นอื่นกำลังตั้งคำถาม แต่ชิ้นนี้กลับเป็นการย่อยโครงสร้างภายในชิ้นงานของ Hito ให้เหลือเพียงสิ่งที่เป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดในการสร้าง “ความเป็นศิลปะ” ในวิถีการทำงานของ Hito ส่วนที่อาจเรียกว่า noise นี้ ถูกฉายอยู่ที่กำแพงขนาดใหญ่ ที่ทำหน้าที่คล้ายกรอบยักษ์สีทองที่ห้อมล้อมชิ้นอื่นๆไว้ ขนาดที่มีส่วนต่างมากขนาดนี้ ทำให้ผู้ชมต้องเข้าไปจ้องมองที่ตรงกลางโดยอัตโนมัติ ในลักษณะเดียวกันกับการทำงานของกรอบที่กล่าวไป เมื่อจองมองเข้าไปที่ชิ้นงานนี้ จะพบเห็น ตาราง “pixel” ที่ชัดเจนที่สุด ยิ่งเสียกว่า foreground ที่เคลื่อนไหวเป็น noise อยู่เสียอีก หากเทียบกับงานจริงแล้วจะสังเกตได้ว่า foreground/background ในงานจริงถูกกลับตาลปัตรไปหมด ทว่า pixel เหล่านี้นี่แหละที่เป็นโครงสร้างเชิงอำนาจที่ Hito เล่นอยู่เสมอ ระหว่าง figure หรือประเด็นที่ปรากฏกับนัยยะเชิงโครงสร้างที่ควบคุมมันไว้ให้ปรากฏ ทว่าในชิ้นงานจริง ในสายตาคนทั่วไปสิ่งที่ดึงดูสายตากลับเป็น ประเด็นเบื้องหน้า (figurative foreground) ไม่ใช่โครงสร้างเชิงอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง ความเป็นศิลปะของชิ้นงาน Hito จึงจะเกิดก็ต่อเมื่อผู้ชมพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่เห็นเท่านั้น งานชิ้นนี้ใน The Collector 0.01% สำหรับผู้เขียนแล้ว จึงไม่ใช่การตั้งคำถามว่า pixel ที่ปกติทำงานอยู่เบื้องหลังเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะหรือไม่ แต่เป็นการทำให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้นี่แหละที่เป็นสิ่งสำคัญของชิ้นงานศิลปะ

(ผู้เขียนถ่ายเอง)

ประเด็นที่สาม ว่าด้วยเรื่อง “performativity” ของ “นิทรรศการนี้” ผู้เขียนพบประเด็นดังกล่าวจากการมองนิทรรศการแบบองค์รวม หากสังเกตชื่อนิทรรศการแล้ว The Collector 0.01% หากแปลอย่างตรงตัวก็คือ “การเก็บสะสม” สิ่งที่มาพร้อมกับการเก็บสะสมก็คือ การ “perform” บนช่วงเวลาเวลาหนึ่ง หากพูดให้สั้นที่สรุปอาจเปรียบได้ว่า ชิ้นงานที่แสดงในนิทรรศการนี้เปรียบเหมือนภาพถ่ายที่ document ไว้ของศิลปะ Performance art และสิ่งที่หลงเหลืออยู่นี่แหละที่ คือหลักฐานที่จะก่อให้เกิดความเป็นศิลปะขึ้น (กรณีที่เขาศึกษากันไว้ก็คงเป็น Tehching Hsieh ลองหาเปเปอร์อ่านๆได้ ถ้าสนใจ) ผู้เขียนตระหนักถึงมุมนี้จากความรู้สึกที่ว่า นิทรรศการนี้น่าจะมีความหลากหลายของรูปแบบมากกว่านี้ ดังที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า แม้ชิ้นงานจะมีเกือบ 10 ชิ้น หรือมากกว่า (จำไม่ได้แล้วว่ามีกี่ชิ้น) แต่ประเด็นจะคล้ายๆกัน มีเพียง 3 แบบ แบบแรกคือ เศษทฝุ่นจากชิ้นงานที่มีสถานะเป็นชิ้นงานศิลปะแล้ว เป็นงานศิลปะและมีคุณค่าหรือไม่ แบบที่สอง คือ วัตถุที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการสร้างงานศิลปะ เป็นศิลปะและมีคุณค่าหรือไม่ ดังที่จะพบในชิ้นที่อ้างอิงถึงผลงานของ กมล เผ่าสวัสดิ์ และ สุดท้ายคือ การย่อยให้เห็นรากฐานความเป็นศิลปะที่มักถูกมองข้าม ดังที่กล่าวไว้ในกรณีชิ้นที่อ้างอิงถึง Hito ทว่า เมื่อมองในกระบวนการการสร้างนิทรรศการนี้แล้ว การสร้างนิทรรศการศิลปะนี้ มันเป็นข้อจำกัดต่างๆ ในการ perform ของศิลปินที่ “collect” สิ่งเหล่านี้มากกว่า ซึ่งความ organic นั้นมีมากกว่าการเป็น spectacle แบบที่จะพบเห็นได้จากการ display collection ของพิพิธภัณฑ์ ที่เก็บและนำเสนอได้อย่างเป็นอุดมคติตามเป้าหมายได้มากกว่า เนื่องจากมีกลไกอื่นๆรองรับอย่างเป็นระบบระเบียบ The Collector 0.01% มีกระบวนการที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะการเก็บชิ้นงานเหล่านี้ ล้วนขึ้นอยู่กับตำแหน่งแห่งที่และปัจจัยต่างๆ ในชีวิตศิลปินที่เข้ามาเพียงเท่านั้น การได้มาซึ่งเศษของชิ้นงานชิ้นหนึ่ง จึงขึ้นอยู่กับ “ความบังเอิญ” (contingency) ด้วย หลักฐานความบังเอิญเหล่านี้ จึงสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะของมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังใช้ชีวิตสร้างงานศิลปะแบบศิลปิน บนตำแหน่งแห่งที่ที่ชัดเจน ตามประสบการณ์ชีวิตในช่วงนี้ของเขา หากพิจารณาบนฐานคิดนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้ชมจะสัมพันธ์ได้ถึงประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เช่น ข้อถกเถียงเรื่อง Acquisition เป็นต้น

(ภาพจากเพจ Cartel Artspace)

สุดท้าย สิ่งที่ผู้เขียนชอบเป็นการส่วนตัวก็คือ การเรียบเรียง การเลือก การใช้ ทุกองค์ประกอบที่เกิดขึ้น หรือเรียกได้ว่า สิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าผู้ชมนี้ ไม่มีสิ่งใดที่สูญเปล่า ไม่น้อยเกินหรือมากเกินความจำเป็น สิ่งที่ปรากฏอยู่ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างความเป็นศิลปะให้แก่นิทรรศการ และตัวชิ้นงานแต่ละชิ้นเอง ไม่ว่าจะเป็น การเลือกวัสดุเช่นกรอบ ดังจะเห็นได้ว่า กรอบเกิดจากเพียงการนำมุม 2 มุม ที่เท่ากันมาประกบกันเท่านั้น ทำให้เกิด พื้นที่ธรรมชาติตรงกลางขึ้น (อาจจะเรียก byproduct หรืออะไรก็ตามแต่) ซึ่งสอดคล้องไปกับแนวคิดที่ว่า เศษชิ้นงานศิลปะที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากชิ้นงานเป็นศิลปะหรือไม่ ในกรณีนี้คือ สิ่งที่อยู่ในพื้นที่ธรรมชาติของกรอบนี้หรือ noise เป็นงานศิลปะหรือไม่ (ประเด็นนี้ยังถกกันต่อไปได้ ขึ้นอยู่กับว่า ผู้อ่านมองการมีอยู่ของ กรอบ ว่ามันมีอยู่ด้วยตัวมันเอง หรือมีอยู่ตามในฐานะ parergon ที่สร้างมาเพื่อเศษที่อยู่ตรงกลางโดยเฉพาะ สำหรับผู้เขียนเองจากที่กล่าวมาทั้งหมดจะสังเกตได้ว่าผู้เขียน มองการมีอยู่ของกรอบนั้น มีอยู่และมีคุณค่าในตัวมันเอง ผู้เขียนจึงมองว่าเป็น พื้นที่ธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่ากรอบ ในกรณีนี้และแน่นอน อาจไม่ใช่สำหรับทุกชิ้นในนิทรรศการ) นอกจากนี้การใช้พื้นที่ เช่น กำแพง และการใช้ขนาดเป็นเครื่องมือเพื่อขับเน้นคอนเซ็ปของศิลปะ ยัง function ได้อย่างดีในการดึงดูดผู้ชมให้เห็นประเด็นที่หยิบยกขึ้นอีกด้วย นอกจากที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ส่วนตัวยังคิดว่า ยังมีมุมอื่นๆ เกี่ยวกับนิทรรศการนี้อีกเช่นกัน เช่น มิติของเสียงจากชิ้นงานชิ้นหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทต่อองค์รวมเเละชิ้นงานชิ้นอื่น แต่ผู้เขียนจะขอจบบทความไว้ที่ประเด็นไว้เพียงเท่านี้ก่อน เพื่อไม่ให้ยาวจนเกินไป

Jul 13, 2019
1639 views

Other journal

  • รากฐานเชิงภววิทยาของ This page is intentionally left blank (2019): ความแปลกแยกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

    (This page is intentionally left blank (2019) as Autopoietic Form)

    This page is intentionally left blank (2019) โดย คุณ ปรัชญา พิณทอง เป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงและเพิ่งสิ้นสุดลงไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม ผู้เขียนคาดว่าผู้อ่านหลายๆท่านคงจะได้อ่านบทวิเคราะห์มากอยู่บ้างแล้วเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ ในทัศนะของผู้เขียน บทวิเคราะห์เหล่านั้นมักเจาะจงไปที่ “สาร” หรือชุดความคิดบางอย่างที่ตัว “สื่อ” กระตุ้นและนำพาพวกเขาเหล่านั้นไป อย่างไรก็ตามบทความนี้ผู้เขียนต้องการวิเคราะห์ในมุมอื่น นั่นคือลักษณะเชิง “ภววิทยา” (ontology) ของผลงานชิ้นนี้ ผู้เขียนคาดว่าผู้อ่านที่สนใจเรื่องทฤษฏีคงจะสนุกกับมันอยู่บ้าง

    Nonthachai Sukkankosol
    Feb 3, 2019
    1887 views

  • ข้อจำกัดภายใต้โครงสร้างเทศกาลศิลปะแบบ Biennale: งานศิลปะพื้นที่เฉพาะและอัตตาณัติของชิ้นงานศิลปะ

    ปรากฏการณ์การแพร่กระจายของเทศกาลศิลปะ biennale ได้เข้มข้นขึ้นและกระจายไปอยู่ทั่วทุกมุมโลกโดยเฉพาะในช่วงทศวรรตที่ผ่านมา ในแต่ละปีนั้นมีการจัดงาน biennale ขึ้นมากมายในหลายๆประเทศ ในปี 2018 หากนับเพียงเทศกาลที่จัดขึ้นในลักษณะที่เป็นทางการแล้วมีถึง 10 เทศกาลทั่วโลก และในปี 2019 จะมีเทศกาลที่เปิดเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนกว่า 24 เทศกาล การเติบโตของวัฒนธรรม biennale จึงเป็นประเด็นที่สำคัญเพราะเทศกาลศิลปะเหล่านี้มีบทบาทเป็นอย่างมากในการทำหน้าที่เป็นหน้าฉากและตัวเชื่อมระหว่างโลกศิลปะกับพื้นที่สาธารณะ

    Nonthachai Sukkankosol
    Jan 27, 2019
    1526 views

About
There is no information.
Contact
e-mail: [email protected]