Atikom Mukdaprakorn

photography , media arts , management , writing

Art’ & ‘Tist That I Can’t Deny/Depart

* นี่ไม่ใช่บทความวิชาการ ไม่มีความถูกต้องให้อ้างอิง ไม่ต้องมาอิน

 

ศิลปะมักจะพยายามดำรงสถานะความเป็นผู้สร้างไว้กับตนเอง ด้วยการสร้างสิ่งอื่นที่ “ไม่มี” ให้ “มี” ขึ้นมา นั่นคือพลังพิเศษที่กลายเป็นออร่าเฉพาะของโลกศิลปะ ในเวลาหนึ่งศิลปินจึงเป็นผู้พยายามค้นหาความขาดหายที่ต้องไปเก็บตัว สำรวจตน รู้สึก สัมผัสความเว้าแหว่งในชีวิต จินตนาการ นำมาก่อรูป เป็นสิ่งใหม่ มาแสดง ผ่านการสร้างระยะห่าง ความเป็นอื่น ให้ภาพของการได้รับการชดเชยความขาดแคลนนั้น ช่างสวยฝัน แสนโรแมนติก และซาบซึ้ง ชวนหลงใหลน่าครอบครอง หรือล่องลอยไปสู่โลกพิเศษแดนสวรรค์ที่มีสิ่งที่ขาดหายไปเหล่านั้นอย่างเพียบพร้อมรออยู่

 

แต่สิ่งที่ “ขาด” ไม่ใช่สิ่งที่ “ไม่มี” ความไม่มียังกว้างขวางออกไปอีกหลายมิติ การที่ไม่ถูกยอมรับจากเส้นระเบียบต่างๆ เลือนรางสิ่งที่มีให้กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีได้

 

งานศิลปะร่วมสมัย ณ ปัจจุบัน มักพูดถึง “ความเป็นคน” โดยเฉพาะ ความบกพร่อง จากมาตรฐาน จากการรับรู้… เราอาจพลาดอะไรบางอย่างไปในการกำหนดรูปร่างของสังคม ทำให้เราต้องโหยหา พยายามจูนความเป็นคนที่ขาดหายไปให้ปรากฏขึ้นมาใหม่ในโลกศิลปะ

 

“ความห่วย ความป่วยจิต ความไม่ได้เรื่อง ความเลว ความเหลวไหล ความแรดดอก และอีกหลายความ” ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีในจำกัดความของ “คนดี” ที่มีอรรถประโยชน์แด่สังคมสมัยใหม่ กลายเป็นสิ่งอื่น ทั้งๆ ที่มีอยู่ในตัวคนอยู่แล้ว ได้กลายมาเป็นความโรแมนติกใหม่ของศตวรรษที่ 21 ที่ศิลปินไล่ล่ามานำเสนอ

 

เส้นระเบียบเก่าๆ ถูกทบทวนและพยายามขีดใหม่ทับซ้อนกันไปมาจากหลายมือ หลายความคิดเห็น ทั้งยังรวดเร็วด้วยพลังแห่งเทคโนโลยีที่ร่นเวลาในความรู้สึกและการทำงานให้ไหลเร็วขึ้นได้มากกว่าที่เข็มนาฬิกาที่กระดิกอย่างสม่ำเสมอจะวิ่งตามทัน สภาวะนี้ทำให้เกิดความสับสนแก่สังคมอยุ่ตลอดเวลาว่าอะไรกันแน่ที่ดี หรือไม่ดี ภาวะต่างๆ ทีมีจริงภายในตัวคนที่ตกมาตรฐานทางสังคมจะถูกนำมาเสนอ จนอาจนำไปสู่การไม่อาจแยกแยะ หรือหมดการแยกแยะ กลายสู่ “ความเสมอภาค” ในความหมายของการได้รับอนุญาตให้ทุกความเหล่านั้นปรากฏตัวตนขึ้นได้ ซึ่งเป็นความฝันใหม่ของนักอุดมการณ์ในปัจจุบัน

 

ความไม่มีที่ถูกนำมาเสนอนี้ ไม่ใช่ความไม่มีแบบความขาดที่ศิลปินขุดค้นเข้าไปหาภายในตัวเองอีกต่อไป แต่เป็นความไม่มีจากการเปรียบเทียบกับความมีในสังคม ศิลปินกลายเป็นผู้พยายามจูนตนเองเข้าสู่สังคม แต่ก็กันระยะห่างของตัวเองให้มีความเป็นผู้สังเกตการณ์ในระดับระยะต่างๆ เพื่อตรวจสอบคุณค่าต่างๆ ที่ปรากฏรอบตัว เทียบกับคุณค่าและอุดมคติภายในตนเอง ซึ่งนำมาสู่ความทั้งหลอมรวมและเป็นอื่นกับสังคม

 

ศิลปินรุ่นใหม่มักไม่มีลักษณะเก็บตัวแยกขาดจากโลกภายนอกนัก หากแต่ปะปนกลมกลืนไปกับสังคม สังสรรค์ เฮฮา แต่ยังคงระยะที่จะแผ่ออร่าความแปลกแยกให้คนรอบข้างรู้สึกถึงความเป็นอื่นของตัวศิลปินเองไปด้วยในเวลาเดียวกัน ผ่านพฤติกรรม วาทะ สิ่งที่เลือกมาใช้ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ หรืออาจเก็บงำไว้อย่างแนบเนียนในฐานะความลับบางประการ ที่ยิ่งทำให้ตัวบุคคลมีเสน่ห์ น่าค้นหา โรแมนติกยิ่งขึ้น จนบางครั้งตัวศิลปินลักษณะเช่นนี้เองนั่นแหละ คืองานศิลปะที่มีออร่าเร้าความลุ่มหลงใหลให้กับผู้อยู่รายรอบได้ เช่นเดียวกับงานศิลปะในแบบที่นำเสนอสิ่งขาด

 

สิ่งขาด ที่อยู่ตรงหน้า ร่วมสังคม และมีชีวิตเช่นนี้ เป็นที่หมายปองของใครหลายคน จนศิลปินเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกและละลาจากผู้ครอบครองไปได้เมื่อยังรู้สึกเป็นอื่นกับผู้มาครอบครองตน เพราะศิลปินเหล่านี้ไม่ใช่งานศิลปะ แต่หากเป็นสิ่งมีชีวิต ที่มีความเป็นศิลปะชวนฝันในตัว เท่านั้น

 

ในบรรยากาศโลกที่ขับเคลื่อนด้วยทุน ทุกสิ่งสามารถกลายเป็นทุนเชิงสัญญะได้ ความเป็นศิลปินเองก็พร้อมจะลดรูปสู่ความเป็นสไตล์ให้ผู้ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินซื้อหาสวมใส่ได้เช่นกัน เพื่อก้าวสู่ชุมชนเศรษฐกิจการแลกเปลี่ยนซื้อขายการใช้ชีวิตแบบผ่านพบ และละความผูกพันไปได้โดยง่าย ชีวิตเสพซื้อ ใช้สอย หมดแล้วทิ้ง เป็นกลไกปกติของระบบบริโภค ที่ไหลเร็วขึ้นเรื่อยๆ ตามเทคโนโลยีใหม่เช่นกัน ความสับสน ความไหลลื่น ที่ก่อตัวขึ้นมาในปรากฏการณ์ทางศิลปะ เป็นจุดอ้างอิงที่ดีที่ผู้ถือครองสัญญะความเป็นศิลปินจะนำมาใช้ในการที่จะไม่ยึดอยู่กับคุณค่าใด หรือบุคคลหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจงให้ยาวนาน “ความติสท์แดก ความอาร์ตตัวแม่” จึงดูจะเป็นความโลเลที่ยอมรับได้ น่านำมาใช้เพื่อลาจากการครอบครอง ทิ้งรอยเศร้าไว้ให้ผู้สูญเสียงานศิลปะที่เคยครอบครองไป

 

“ศิลปะ+ศิลปิน” และ “การครอบครอง” จึงกลายเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน หากจะอยู่ร่วมกับศิลปะได้ อาจต้องละการสมาทานทุกประการ เลิกใส่ใจการครอบครอง พร้อมเดินผ่านการเปลี่ยนผ่านไม่รู้จบจนไม่รู้จักจุดอ้างอิงใดๆ อีกต่อไป สภาวะเช่นนี้ในทางพุทธศาสนาอาจพอกล่าวได้ว่าเป็นการหลุดพ้นทางโลกที่เป็นปลายทางแห่งพุทธ แต่ในทางโลกทุนนิยมบริโภคนิยมที่ชีวิตเราต่างก็ยังต้อง บริโภค จับจ่าย ใช้สอย สิ่งซึ่งมีราคากำหนดไว้ทั้งนั้น มือถือที่เปลี่ยนใหม่อย่างไม่แคร์เครื่องเก่า โน๊ตบุคที่ต้องเปลี่ยนยกเครื่องเพื่อตามรุ่นให้ทัน ฯลฯ การละได้ง่ายๆ เป็นพฤติกรรมที่ยอดเยี่ยมต่อการส่งเสริมการบริโภคไปด้วย สภาวะเช่นนี้อำนวยให้ความเจ็บปวดจากการลา กลายเป็นปลายทางของความโรแมนติกที่ทุกคนโหยหา เพื่อจะได้ก่อความไม่ครอบครอง ผูกพัน กับงานศิลป์ชิ้นใหม่ ครั้งใหม่ (แม้ในใจจะอยากครองไว้) ได้เรื่อยๆ เจ็บปวดไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นด้านชา ชมชอบความไม่(อาจ)มีไปในที่สุด

 

 

ยินดีต้อนรับสู่ยุคสมัยแห่งความตายด้านต่อการจากลา อย่าครอบครองฉันเลย นะ… ฟิน

 

 

 

 

ปรับปรุงจากฉบับลงครั้งแรกในที่อื่น เมื่อ 30 มกราคม พ.ศ.2554

Oct 1, 2015
1212 views

Other journal

  • Chiang Mai Art Museum

    แม้เมืองเชียงใหม่จะหนาแน่นขึ้นทุกวัน แต่ก็ยังพอมีพื้นที่ให้โลกในฝันสามารถก่อรูปก่อร่างเป็นความจริงขึ้นมาได้อยู่ ที่สุดปลายอำเภอสันกำแพง พิพิธภัณฑ์ศิลปะเชียงใหม่ ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2554 โดยกลุ่มศิลปินที่ต้องการพื้นที่ไว้แสดงจุดยืนให้สังคมได้ทำความเข้าใจความหมายของศิลปะและความเป็นศิลปินให้ชัดเจนขึ้น ที่นี่เป็นแหล่งรวมฝันของศิลปินนับร้อยคนที่ช่วยกันลงทุนลงแรงสร้างมันขึ้นมา

    Atikom Mukdaprakorn
    Jun 3, 2018
    4757 views

  • KONYA2023: The TRAVELLERS PROJECT in Fukuoka

    Konya2023 ได้บูรณะความคิดต่อสถาปัตยกรรมให้เปลี่ยนจากเรื่องของ 'พื้นที่' มาเป็น 'เวลา' เพื่อกำหนดวงจรของการพบปะคนใหม่ๆ โดยการเปิดให้นักสร้างสรรค์สามารถมาเช่าใช้ได้ในราคาถูกแบบจำกัดเวลา กระตุ้นให้พวกเขาใช้โอกาสนี้พัฒนางานของตัวเองให้สำเร็จก่อนต้องย้ายออกไปและขวนขวายการเรียนรู้จากผู้ร่วมอาศัยคนอื่นในช่วงเวลาเดียวกันที่ทำงานแตกต่างกันไปให้ช่วยกันลับคมผลงานให้ดียิ่งขึ้น ที่นี่จึงกลายเป็นชุมชนศิลปินและนักออกแบบที่หมุนเวียนผู้คนมาทำอะไรสนุกๆ กันในย่านไดเมียว ฟุกุโอกะ นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา

    Atikom Mukdaprakorn
    May 4, 2018
    807 views

  • minimal. gallery 2007 - 2017

    มินิมอล.เริ่มต้นบนนิมมานซอย 13 เมื่อปี 2007 สปิริตที่สำคัญในเชียงใหม่ช่วงนั้น คือ สปิริตแห่งการทดลอง-ความผิดท่าผิดกลิ่น-การหาคำถามใหม่ที่ไม่พาไปสู่คำตอบเก่าๆ เมืองที่ไม่ใช่เมืองหลวงแต่ก็อยากเป็นตัวของตัวเองที่ไม่ใช่ที่เคยมีมากว่า 700 ปีก่อนหน้านั้น มันไม่ง่ายเลยที่ของใหม่ๆ เหล่านี้จะมีคนอุดหนุนซื้อขายกัน แต่ ทีมมินิมอล. กลับเลือกจะทำแกลเลอรี่ที่ลุยไปกับวัฒนธรรมที่ยังเยาว์เหล่านี้

    Atikom Mukdaprakorn
    Apr 30, 2017
    3786 views

  • GOOD LIFE | มันเลยไม่มีคำตอบ

    เมื่อความเป็นจริงที่แท้จริง ไม่สำคัญ อะไรก็สามารถปลุกเสกให้เป็นความจริงได้ เพียงร่วมกันเชื่ออย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไว้ แม้กระทั่งเหตุผลรองรับความไม่จริง หรือเรื่องเล่าที่ทำให้การหลักการลอยๆ ดูสมเหตุสมผลขึ้นมา ก็เป็นความจริงได้ อย่างเช่นแผนผังที่สร้างขึ้นมารวบทุกสิ่งที่ขัดแย้งต่อหลักการสูงสุดของสังคมมาไว้เป็นกลุ่มของสิ่งไม่พึงประสงค์ที่ต้องกำจัดไปจากสังคม ก็ได้รับการเชื่อถือและนำมาใช้แม้จะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ จนเมื่อพบว่าไม่จริง ก็ไม่มีใครใส่ใจจะแก้ไขผลที่เกิดขึ้นไปแล้ว ทั้งที่ยังมีผู้ต้องเจ็บปวดจากมันอยู่ เรื่องอื่นๆ กำลังวนมารอคิวเข้าสู่ความสนใจของสังคม อีกเรื่อง/อีกครั้ง ถ้าไม่รีบทำเป็นลืมปัจจุบันที่กำลังผ่านไป เดี๋ยวจะไม่ร่วมสมัยเท่าคนอื่น

    Atikom Mukdaprakorn
    Jul 21, 2016
    1124 views

About

Co-founder of mute mute, which emphasizes mutual discussion about society in order to expand the boundary of perception through art, cultural performances and social activities in different forms. He is personally interested in media/art culture, especially domestic photography, freedom of expression and the state of art in Thailand. These form the basis for many of the conditions used in his media/art performances. Currently, he has been collaborating on the project "Chiang Mai Art Conversation" which originated in Chiang Mai. The purpose of the project is to facilitate a connection of art with discussion and Thai society to gain greater knowledge through all kinds of management and media.

CV Download
Contact
e-mail: [email protected]
Website
http://atikomm.tumblr.com
Social