นิทรรศการ SILPA: TRANSFORM กาย-วิพากษ์จัดขึ้นเนื่องในวันศิลป พีระศรี ประจำปี 2559 แสดงภาพร่างกายวิภาคบนกระดานดำขนาดใหญ่ในห้องนิทรรศการชั้นสองที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) ฝีมือของวรรณฤทธิ์ กะรินทร์ ภาพร่างเหล่านี้อ้างอิงไปถึงการเรียนการสอนศิลปะว่าด้วยรูปลักษณ์และร่างกายของมนุษย์ที่ศิลป พีระศรี (Corrado Feroci) ครูใหญ่ชาวอิตาเลียนแห่งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศิลปากร) เป็นผู้วางรากฐานให้กับการศึกษาศิลปะในเมืองไทยตามอย่างอะคาเดมีในยุโรป ชื่อนิทรรศการเล่นกับคำทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาไทย คำว่า “SILPA” นอกจากจะหมายถึง “ศิลปะ” แล้วยังเป็นตัวสะกดชื่อ “ศิลป” ในภาษาอังกฤษอีกด้วย นิทรรศการนี้นำเสนอองค์ความรู้เรื่องกายวิภาคในฐานะคุณูปการของศิลปต่อการศึกษาศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย
ไม่ว่าจะตระหนักถึงนัยการเมืองของศิลปะหรือไม่ นิทรรศการ SILPA: TRANSFORM กาย-วิพากษ์ได้ดึงเอาประเด็นที่น่าสนใจที่สุดประเด็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสมัยใหม่ อันได้แก่ การแสดงภาพร่างกายขึ้นมา ทว่าน่าเสียดายที่ยังไปไม่ถึงการ “วิพากษ์” ในความหมายของ “critique” คือการวิเคราะห์แจกแจงโดยละเอียดถึงนัยการเมืองของการให้ภาพร่างกายที่เกาะเกี่ยวอยู่กับรอยต่อของความเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ทางการเมือง รูปแบบทางศิลปะหรือ “สไตล์” ที่ส่งผลต่อการนำเสนอภาพร่างกายในยุคที่ศิลปทำงานนั้นสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับสำนึกเรื่องชนชั้นทั้งก่อน ระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เมื่อเป็นเช่นนี้ ถึงแม้จะมีแยกส่วนร่างกายออกมาเป็นภาพร่างมากมายบนกระดานดำ “กาย-วิพากษ์” ก็ยังเป็นแค่ “กายวิภาค” แต่ยังไม่ถึงกับ “วิพากษ์กาย”
การวิพากษ์ที่ขาดหายไปปรากฏชัดทั้งในข้อเขียนประกอบนิทรรศการบนผนังและตัวผลงานภาพร่าง ข้อความบนผนังห้องแสดงงานในชื่อ “ร่างกาย กายร่าง” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเข้ามาทำงานในสยามของศิลปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 และบทบาทของเขาในการสถาปนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการสร้างภาพร่างกายมนุษย์ตามแบบศิลปะตะวันตกอย่างรวบรัด แม้ขนบการเขียนข้อความในห้องนิทรรศการโดยทั่วไปจะไม่อนุญาตให้บรรยายยืดยาว แต่ความกระชับ สั้นในที่นี้กลับก่อให้เกิดปัญหา ข้อความดังกล่าวเล่าถึงการนำเข้าหลักวิชาศิลปะแบบตะวันตกที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการสร้างภาพคนจากแบบประเพณีที่เน้นเส้นสายอ่อนช้อยไปสู่ภาพคนแบบสัจนิยม (แบบเหมือนจริง) ทั้งยังยกตัวอย่างอุดมคติเกี่ยวกับร่างกายแบบใหม่ว่าได้แก่งานอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ 2470 ถึง 2490 พ้องกับภาพร่างบนกระดานส่วนใหญ่ที่แตกตัวออกมาจากแผ่นภาพนูนสูงประดับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎร และสำเนาตัดตอนบทความ “การวิเคราะห์เชิงวิจารณ์รูปแบบและสัญลักษณ์ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในแง่ศิลปะโดยพิจารณาเน้นที่ภาพรูปจำหลักโดยรอบของปีกทั้งสี่ของอนุสาวรีย์” ของเเจนนิส วงศ์สุรวัฒน์ ข้อเขียนนี้บรรยายเหตุการณ์ไปตามลำดับเวลา แต่ไม่ได้ระบุว่าการตั้งโรงเรียนศิลปะนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยคณะราษฎร ราวกับว่าไม่มีรอยสะดุดระหว่างสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ศิลปเริ่มเข้ามาทำงานให้ราชสำนักกับการเป็นข้าราชการของกรมศิลปากรยุคใหม่ในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้อเขียนละเลยที่จะระบุถึงการปฏิวัติทางการเมืองโดยคณะราษฎรในปี 2475 ซึ่งมีผลต่อการให้ภาพร่างกายในงานศิลปะภายใต้การนำของศิลปอย่างสำคัญ ทั้งๆ ที่อุดมการณ์ของคณะผู้ก่อการล่องลอยอบอวลอยู่ในบรรยากาศ อันที่จริงแล้ว ความเป็นสัจนิยมของศิลปมีความแตกต่างที่แยกย่อยลงไปอีกตามรายทาง และสิ่งที่แฝงฝังอยู่ในความแตกต่างนี้ก็คือ สำนึกเรื่องชนชั้นที่แสดงออกผ่านร่างกายนั่นเอง
ชนชั้นในสังคมสยาม/ไทยแสดงออกผ่านการให้ภาพร่างกายในงานศิลปะและวรรณกรรม ในสมัยโบราณ ภาพนำเสนอชนชั้นสูงด้วยเรือนร่างอรชรอ้อนแอ้น สง่างาม ส่วนสามัญชนปรากฏในรูปของภาพกาก คือตัวบุคคลที่มี รูปร่างหน้าตาหยาบ ทำอากัปกิริยาไม่สำรวม ความนิยมนี้เปลี่ยนไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ภาพแนวสัจนิยม-คลาสสิคกลายเป็นพระราชนิยมใหม่ เกิดการทำภาพร่างกายที่ให้ความสำคัญกับความเหมือนจริง มีกล้ามเนื้อและแสงเงา ขณะเดียวกันก็มีความเป็นอุดมคติตามฝีมือศิลปินตะวันตก การที่ศิลปเข้ามารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสพระราชนิยมนี้ ผลงานที่ศิลปสร้างในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นไปตามขนบการสร้างงานแบบคลาสสิคในยุโรป แต่เมื่อคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย (ระบอบรัฐธรรมนูญ) การหันมายกระดับคุณค่าของสามัญชนในฐานะศูนย์กลางและกำลังในการสร้างชาติได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบงานศิลปะ คำถามคือ จะทำอย่างไรให้ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสำนึกเชิงชนชั้นอย่างใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสามัญชน พร้อมกันนั้นยังต้องวิพากษ์ชนชั้นสูงเพื่อทำลายความชอบธรรมของอำนาจแบบเก่า
รัฐบาลในสมัยคณะราษฎรได้พยายามสร้างมาตรฐานใหม่ของเรือนร่างในอุดมคติผ่านช่องทางต่างๆ ในปี 2482 หลวงวิจิตรวาทการแสดงปาฐกถาชื่อ “มนุสสปฏิวัติ” เรียกร้องให้งานวรรณกรรมเสนอภาพตัวเอกที่กำยำล่ำสันโดยกล่าวว่า “...กวีของเรามักปั้นรูปพระเอกให้เป็นคนอ้อนแอ้นอ่อนแอ พอต้องทำงานอะไรเข้าหน่อยก็พรรณนาให้น่าสงสาร เช่นว่า ‘แสนวิตกอกเอ๋ยไม่เคยยาก’ รูปร่างพระเอกของเรามักจะอรชรอ้อนแอ้น แม้จะเดินก็ไม่ค่อยไหว ผิดกับกวีนิพนธ์ของฝรั่งและจีน ซึ่งพระเอกของเขามักต้องเป็นผู้ล่ำสันใหญ่โตแข็งแรง... ข้าพเจ้าขอใช้ปาฐกถาอันนี้ เป็นคำขอร้องต่อเพื่อนนักประพันธ์ทั้งหลายว่า ขอให้เราช่วยกันสักพักหนึ่ง คือท่านจะประพันธ์เรื่องนิยาย เรื่องเริงรมย์ เรื่องละครหรือเรื่องอะไรก็ตาม ขอให้วาดภาพตัวเอกในเรื่องของท่านให้เป็นคนล่ำสันแข็งแรงขยันหมั่นเพียร” ส่วนคอลัมน์ “สร้างไทยมหาอำนาจด้วยสุขภาพแผนใหม่” ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน 2484 ก็ตีพิมพ์ภาพชายฉกรรจ์ร่างกายอุดมด้วยกล้ามเนื้อ โดยมีคำบรรยายว่า “ขอให้ชายฉกรรจ์ไทยเรามีรูปร่างอย่างนี้เหมือนๆ กันหมด เราต้องเปนมหาอำนาจที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก”
อุดมคติใหม่เกี่ยวกับร่างกายนี้ส่งผลต่อการทำงานทัศนศิลป์เช่นกัน นักประวัติศาสตร์ศิลปะสายมาร์กซิสต์ชื่อ เฟรเดอริค อันทาล (Frederick Antal) อธิบายว่าการเกิดขึ้นรูปแบบศิลปะหนึ่งๆ นั้นสัมพันธ์กับบริบททางสังคม การเมือง และชนชั้นของยุคสมัย ร่างกายในศิลปะสมัยคณะราษฎรเป็นจุดประจบระหว่างศิลปะกับอุดมการณ์และความเชื่อทางการเมืองที่การสร้างสำนึกทางชนชั้นอย่างใหม่ในสังคมเป็นหัวใจสำคัญ ความเหมือนจริงของร่างกาย หรืออีกนัยหนึ่ง ความถูกต้องทางกายวิภาคในศิลปะสมัยคณะราษฎรจึงแตกต่างจากความเหมือนจริงในศิลปะสยามก่อน 2475 ที่มีพระราชนิยมในศิลปะคลาสสิคเป็นตัวกำกับ ร่างกายอันแข็งแรงกำยำที่ปรากฏในอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เปิดในวันชาติปี 2483 มีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลองชัยชนะของสามัญชนเหนือชนชั้นปกครองในการปฏิวัติปี 2475 (และนั่นยังอธิบายว่าเพราะเหตุใดจึงแทบไม่พบร่างกายในลักษณะเช่นนี้อีกในการทำงานศิลปะกระแสหลัก ตลอดจนงานอนุสาวรีย์หลังการรัฐประการปี 2490 ที่ล้มล้างคณะราษฎรออกไปจากเวทีการปกครอง)
ในแง่นี้ การให้ความสำคัญกับกายวิภาคและการให้ภาพร่างกายในงานศิลปะภายใต้การนำของศิลป พีระศรีจึงมีความซับซ้อนมากกว่าที่นิทรรศการนี้ได้แสดงออกมา สัจนิยมในศิลปะช่วงก่อน-ระหว่าง-หลังการปฏิวัติ 2475 ผูกพันกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นอริต่อกันอย่างแน่นแฟ้น การวิพากษ์กายที่ขาดหายไปในนิทรรศการ SILPA: TRANSFORM กาย-วิพากษ์จึงทำให้นิทรรศการเป็นแต่เพียงการยักย้ายถ่ายเทหรือ “transfer” บทเรียนภาพร่างในสตูดิโอมาสู่พื้นที่หอศิลป์ แต่ไม่ได้ไม่ได้แปรสภาพหรือ “transform” บทเรียนนั้นให้กลายเป็นองค์ความรู้อื่น
In the exquisite carved and gilded frames that hung on the wall above the horizon line is the matted and stained sheep’s wool. Dirty as it seems, the wool was taken from stray sheep wandering around the village of Ru-Sa-Me-Lae, a small village in Pattani. Pattani is one of the three provinces (Pattani, Yala and Narathiwat) in the Deep South or the Patani region, the southernmost part of Thailand. It is a predominantly Islamic region where the protracted conflict between the Thai state and the militants aiming to liberate Patani and establish a Malay Islamic State, Patani Darussalam, has been consuming thousands of lives for decades. The Deep South has long been a subject of study of violence and state oppression.
บทความประกอบนิทรรศการ The Broken Ladder โดยวันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร จัดแสดงที่ Gallery Ver ระหว่างวันที่ 7 กุมภาพันธ์ - 31 มีนาคม 2561
ธนาวิ โชติประดิษฐ (เขียน)
พจนรรฏ สุทธิพินิจธรรม (แปล)
Tanachai Bandasak (ภาพ)
House/Hope is written by Thanavi Chotpradit for the exhibition catalogue 'The Broken Ladder' by Wantanee Siripattananuntakul. The Broken Ladder is on view at Gallery Ver from 7 February to 31 March 2018.
Translation: Pojanut Suthipinittharm
Photographer: Tanachai Bandasak
ละครเวทีเรื่อง “ซูเปอร์ พรีเมี่ยม ซอฟท์ ดับเบิ้ล วานิลลา ริช” (Super Premium Soft Double Vanilla Rich) ของคณะละครเชลฟิตช์ (Chelfitsch) เขียนบทและกำกับโดยโทชิกิ โอกาดะ (Toshiki Okada) เสียดสีสังคมบริโภคนิยมของญี่ปุ่นและความจำเจแต่เสแสร้งของงานบริการผ่านการเล่าความเป็นไปในร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงชื่อร้านสไมล์ แฟคทอรี่ ตัวละครทั้งเจ็ด ได้แก่ พนักงานชายสองคน คนหนึ่งเป็นจอมป่วน อีกคนหนึ่งดูธรรมดา ผู้จัดการร้านแสนดี พนักงานฝึกงานสาวผู้มีอาชีพหลักเป็นนักแสดงละครเวที ซูเปอร์ไวเซอร์จากสำนักงานใหญ่ ลูกค้าสาวขาประจำที่มาซื้อไอศกรีม “ซอฟท์ ดับเบิ้ล วนิลลา ริช” อย่างเดียวทุกคืน และชายหนุ่มนักต่อต้านผู้แวะมาพูดจาก่อกวนที่ร้านทุกวัน ผลัดเปลี่ยนกันออกมาสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับสังคมสมัยใหม่ที่ทุกคนตกเป็นทาสของวัตถุและการค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้